สรุปผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 ของ ASEAN+3 Macroeconomic Research Office ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 9 สิงหาคม 2567

14 สิงหาคม 2567

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 คณะผู้แทนจาก ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) นำโดย Dr. Kouqing Li ผู้อำนวยการ และ Dr. Hoe Ee Khor หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เข้าพบนางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน เพื่อรายงานผลการสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

AMRO ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 2.8 ในปี 2567 และร้อยละ 3.4 ในปี 2568 จากอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศที่ขยายตัวดี ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งรวมถึงผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในระดับต่ำ โดยปรับลดลงจากร้อยละ 1.3 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 0.7 ในปี 2567 จากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน และราคาอาหารและสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ที่ลดลง แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.6 ในปี 2568 ตามผลของมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานที่ทยอยหมดลง และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้น

 

ด้านนโยบายการเงิน AMRO เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ดี การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า นโยบายการเงินจึงควรพร้อมสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากจำเป็น ทั้งนี้ AMRO ชื่นชมและสนับสนุนการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงการปรับปรุงกลไกการค้ำประกันสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับนโยบายการคลัง AMRO เห็นควรให้ทางการลดการขาดดุลทางการคลัง (fiscal consolidation) เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space)  โดย AMRO ชื่นชมการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง (Medium-term Fiscal Framework) ที่ได้กำหนดเป้าหมายลดการขาดดุลทางการคลังที่ชัดเจน โดยการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้นโยบายการคลังมีความพร้อมรับมือกับรายจ่ายจำเป็นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ในระยะข้างหน้า ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการเพิ่มผลิตผลของภาคเกษตร การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การปรับตัวของภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และการยกระดับอุตสาหกรรมเดิม ในการนี้ ไทยจะต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ตรงจุดและดำเนินการให้ได้ตามแผนมากขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแผนพัฒนาต่าง ๆ ที่มีอยู่ไปสู่การปฏิบัติจริง ด้วยการประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่งเสริมให้โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วไปสู่การลงทุนที่เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

1
2
3