แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 1 ปี 2565

ธปท. สภอ. ฉบับที่ 07/2565 | 06 พฤษภาคม 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หดตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับดีขึ้น เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับการระบาดรอบก่อน ทำให้การบริโภคหดตัวน้อยลง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐสามารถพยุงกำลังซื้อได้บ้าง อีกทั้ง การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดี และรายได้เกษตรกรปรับดีขึ้นในเกือบทุกสินค้าเกษตร

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภค หดตัวน้อยลง

ตามการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันและการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ  เนื่องจากการระบาดไม่รุนแรงเท่ารอบก่อน สำหรับการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

 

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งการลงทุนด้านก่อสร้างและการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการนำเข้าสินค้าทุนของธุรกิจที่ผลิตเพื่อการส่งออกตามเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว

 

การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวเร่งขึ้น

ตามรายจ่ายลงทุนของกรมทางหลวงชนบทและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประกอบกับรายจ่ายประจำขยายตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร 

การส่งออก กลับมาหดตัวสูง ตามการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และผลไม้ไปจีนที่ลดลง จากผลกระทบนโยบาย Zero-COVID และมาตรการล็อกดาวน์ของจีน

การนำเข้า กลับมาหดตัว ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์จากจีนที่ลดลง จากผลกระทบนโยบาย Zero-COVID และมาตรการล็อกดาวน์ของจีน

 

รายได้เกษตรกร ขยายตัว

ผลผลิตขยายตัว ตามผลผลิตอ้อย จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และราคาขยายตัว ตามราคาปศุสัตว์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ราคามันสำปะหลังและยางพาราจากความต้องการของจีน และราคาอ้อยตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก

 

ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว

ตามการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณอ้อยเข้าหีบ การผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายที่เพิ่มขึ้นหลังสามารถผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น​ และการผลิตเครื่องดื่มที่เริ่มปรับดีขึ้น​

 

อัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้น จากราคาพลังงานและอาหารเป็นสำคัญ

 

การจ้างงาน ปรับดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นการจ้างงานยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง

 

ภาคการเงิน
เงินฝาก ชะลอตัว ตามมาตรการประกันรายได้เกษตรกรที่ทยอยหมดลง 

สินเชื่อ ชะลอตัว ตามความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ

 

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2565 คาดว่า ทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยภาวะราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นปัจจัยกดดันการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ประกอบกับกำลังซื้อเดิมที่ยังอ่อนแอ และมาตรการสนับสนุนการบริโภคจากภาครัฐที่หมดลงเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการบริโภค อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกคาดว่ายังได้รับอานิสงค์จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่มีต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนขนส่งที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
6 พฤษภาคม 2565

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

043 913 532

Neo-econ-div@bot.or.th