แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 2 ปี 2565
ธปท. สภอ. ฉบับที่ 11/2565 | 02 สิงหาคม 2565
การอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัว
จากหมวดบริการตามการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ อีกทั้ง หมวดยานยนต์ขยายตัว ตามความต้องการของกลุ่มผู้มีรายได้ประจำ ขณะที่สินค้าในชีวิตประจำวันหดตัวน้อยลง
การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัว
โดยการลงทุนด้านก่อสร้างชะลอตัวตามต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ทรงตัว
การใช้จ่ายภาครัฐ หดตัว
ตามรายจ่ายประจำจากหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และรายจ่ายลงทุนหดตัวจากกรมทางหลวงชนบทและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
การค้าผ่านด่านศุลกากร
การส่งออก หดตัวสูงต่อเนื่อง ตามการส่งออกผลไม้ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปจีนที่ลดลงจากผลกระทบนโยบาย Zero-COVID และการเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งไปทางเรือมากขึ้น
การนำเข้า หดตัวสูงต่อเนื่อง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์จากจีนที่ลดลง จากผลกระทบนโยบาย Zero-COVIDและการเปลี่ยนเส้นทางการขนส่ง
รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง
ราคาขยายตัวต่อเนื่อง ตามราคาปศุสัตว์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มันสำปะหลังและยางพาราจากความต้องการของจีน และอ้อยตามราคาน้ำตาลตลาดโลก ผลผลิตขยายตัวต่อเนื่อง ตามข้าวนาปรังและอ้อย จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย
ภาคอุตสาหกรรม หดตัว
ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงจากผลกระทบของนโยบาย Zero-COVID ของจีนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การผลิตเครื่องแต่งกายยังคงหดตัวจากความต้องการในต่างประเทศที่ลดลง หลังจากที่เร่งสูงในช่วงก่อนหน้า
อัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้น จากราคาพลังงานและอาหารเป็นสำคัญ
การจ้างงาน มีทิศทางดีขึ้น ตามจำนวนผู้มีงานทำในระบบที่ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับจำนวนผู้ว่างงานใหม่ในระบบที่ลดลง
ภาคการเงิน
เงินฝาก ชะลอตัว จากทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
สินเชื่อ ชะลอตัว จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ขยายตัวตามความต้องการเงินทุนของธุรกิจ
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2565 คาดว่า ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แม้การใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภคได้รับผลดีจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคของภาครัฐ แต่การฟื้นตัวยังมีแรงกดดันจากภาวะค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง และกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ สำหรับการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกคาดว่า ยังได้รับผลดีจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า อีกทั้ง การผลิตอาหารและเครื่องดื่มคาดว่า ขยายตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค แต่ยังมีความเสี่ยงจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่สูงขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 สิงหาคม 2565