แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 3 ปี 2565
ธปท. สภอ. ฉบับที่ 15/2565 | 02 พฤศจิกายน 2565
การอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่อง
จากการใช้จ่ายในหมวดบริการ สินค้าคงทน และสินค้าอุปโภคบริโภค ตามความเชื่อมั่นในการบริโภคที่ปรับดีขึ้น รายได้เกษตรยังขยายตัวดี และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ ขณะที่ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ยังคงกดดันการบริโภค
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย
จากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ลดลงต่อเนื่อง จากฐานสูงปีก่อน รวมถึงการลงทุนด้านเครื่องจักรที่หดตัวจากการลงทุนไปมากในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย
การใช้จ่ายภาครัฐ หดตัวต่อเนื่อง
จากทั้งรายจ่ายประจำในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป หมวดค่าวัสดุหมวดค่าตอบแทนและหมวดรายจ่ายอื่น และรายจ่ายลงทุนที่หดตัวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมทางหลวงชนบทเป็นสำคัญ
การค้าผ่านด่านศุลกากร
การส่งออก หดตัวน้อยลง ตามการส่งออกไปจีนที่หดตัวจากหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์การส่งออกไป สปป.ลาว ขยายตัวในหมวดอาหารและเครื่องดื่มและหมวดผลิตภัณฑ์จากสัตว์
การนำเข้า หดตัวน้อยลง ตามการนำเข้าจากจีนที่หดตัวจากหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ
รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง
จากราคาเป็นสำคัญ ตามราคาปศุสัตว์จากต้นทุนที่ยังสูง มันสำปะหลังตามความต้องการใช้ผลิตอาหารสัตว์ทั้งในและต่างประเทศ ผลผลิตขยายตัวชะลอลงจากผลผลิตข้าวนาปรังที่เก็บเกี่ยวไปในไตรมาสก่อน แต่ยังคงขยายตัวจากปีก่อนตามผลผลิตยางพาราและมันสำปะหลัง
ภาคอุตสาหกรรม หดตัวมากขึ้น
ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงจากปัญหา supply disruption ตามผลกระทบของนโยบาย Zero-COVID ของจีนเป็นสำคัญ และการผลิตเครื่องแต่งกายยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ขณะที่สิ่งทอยังขยายตัวต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้น ตามราคาอาหารสด ได้แก่ เนื้อสัตว์ และผักสดเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาพลังงานชะลอลง
การจ้างงาน เพิ่มขึ้น ตามจำนวนผู้มีงานทำในระบบที่เพิ่มขึ้น (ม.33) และจำนวนผู้ว่างงานใหม่ในระบบที่ลดลง (ม.38)
ภาคการเงิน
เงินฝาก ชะลอตัว ทั้งเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน
สินเชื่อ ขยายตัวเล็กน้อย ตามความต้องการเงินทุนของธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2565 คาดว่า ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลดีจากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น ขณะเดียวกันรายได้เกษตรยังขยายตัวดีจากผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวแม้ยังมีแรงกดดันจากภาวะค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ อาทิ การผลิตอาหารและเครื่องดื่มคาดว่า ขยายตัวตามกิจกรรมการทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การผลิตเพื่อส่งออกยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบมาตรการ Zero-COVID ในจีน และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว
ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 พฤศจิกายน 2565