แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 4 ปี 2565
ธปท. สภอ. ฉบับที่ 02/2566 | 02 กุมภาพันธ์ 2566
การอุปโภคบริโภค กลับมาหดตัว
จากการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าคงทน และสินค้ากึ่งคงทนที่หดตัวตามกำลังซื้อที่ลดลงจากค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง รายได้หลังหักการชำระหนี้ที่ลดลงหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้และผลกระทบของอุทกภัยในบางพื้นที่
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง
จากการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวมากขึ้น ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านก่อสร้างหดตัวน้อยลง
การใช้จ่ายภาครัฐ หดตัวน้อยลง
ตามรายจ่ายลงทุนในหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหมวดครุภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและรายจ่ายประจำในหมวดค่าตอบแทนของงบกลาง
การค้าผ่านด่านศุลกากร
การส่งออก กลับมาขยายตัว ตามมูลค่าการส่งออกคอมพิวเตอร์และผลไม้ไปจีน อาหารและเครื่องดื่มไป สปป.ลาว และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปเวียดนาม
การนำเข้า หดตัวต่อเนื่อง ตามมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีนและเวียดนาม และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากเวียดนาม
รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง
จากราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกที่ความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น ราคาปศุสัตว์จากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง มันสำปะหลังตามความต้องการใช้ผลิตอาหารสัตว์ และแอลกอฮอล์ ขณะที่ผลผลิตทรงตัว
ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง
ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลงและปัญหาอุปทานในจีนช่วงต้นไตรมาส เครื่องแต่งกายหดตัวต่อเนื่องจากความต้องการของต่างประเทศในบางพื้นที่ลดลง และสินค้าเกษตรแปรรูปที่ลดลงจากอุทกภัย
อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาพลังงานที่ชะลอลง ขณะที่ราคาอาหารสดยังสูงต่อเนื่องจากผลกระทบของอุทกภัยในบางพื้นที่
การจ้างงาน เพิ่มขึ้น ตามจำนวนผู้มีงานทำมาตรา 33 ที่เพิ่มขึ้นและจำนวนผู้ว่างงานใหม่มาตรา 38 ที่ลดลง
ภาคการเงิน
เงินฝาก ขยายตัว ตามความต้องการฝากเงินในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
สินเชื่อ ขยายตัว ตามสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อธุรกิจหดตัวเล็กน้อย
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2566 คาดว่า ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ยังมีแรงกดดันจากกำลังซื้อที่ลดลงจากค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้หลังหักการชำระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทยอยปรับดีขึ้นประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐจะช่วยพยุงการฟื้นตัวของการบริโภคได้บ้าง สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ อาทิ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกทรงตัว ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก
ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 กุมภาพันธ์ 2566