แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 1 ปี 2566

ธปท. สภอ. ฉบับที่ 07/2566 | 03 พฤษภาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน และทรงตัวจากไตรมาสก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่หดตัวจากมาตรการภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิต เพื่อการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 
  • อย่างไรก็ดี การค้าผ่านด่านศุลกากรและจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านปรับดีขึ้นหลังการเปิดประเทศ รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภค หดตัวต่อเนื่อง

จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทำให้การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทนหดตัวเล็กน้อย รวมทั้งสินค้าคงทนหดตัว จากความเข้มงวดในเงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อรถใหม่ของสถาบันการเงิน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 5

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ทั้งการลงทุนด้านก่อสร้าง ตามพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัว จากการนำเข้าสินค้าทุน ตามทิศทางการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ตามการเร่งส่งมอบในปีก่อน

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัว

ตามการส่งออกและนำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นผลจากการเปิดประเทศเป็นสำคัญ

โดยการส่งออกขยายตัว ตามการส่งออกทุเรียนสดและชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

การนำเข้าขยายตัว ตามการนำเข้าที่ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าโทรศัพท์มือถือ

 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง

จากผลผลิตที่หดตัว ตามผลผลิตของมันสำปะหลังที่ลดลงจากผลกระทบของอุทกภัยในปลายปีก่อน และผลผลิตอ้อยที่ลดลง จากการที่เกษตรกรใส่ปุ๋ยในช่วงการเจริญเติบโตของพืชน้อยลง ขณะที่ราคาขยายตัว ตามราคามันสำปะหลัง จากปริมาณผลผลิตที่น้อยลง

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวมากขึ้น

ตามการผลิตเพื่อส่งออกโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอที่หดตัวจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลง น้ำตาลและแป้งมันสำปะหลังลดลงจากผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลังที่ลดลง การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตามกำลังซื้อที่เปราะบางและอาหารสัตว์จากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังอยู่ในระดับสูง

 

การท่องเที่ยว หดตัว

หลังเร่งขึ้นในปลายไตรมาสก่อน โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยหดตัวจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง อาทิ กลุ่มแต่งงาน กลุ่มประชุมสัมมนา และงานเทศกาลต่างๆ นอกจากนี้ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ชาวลาว ยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีสัดส่วนน้อย

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาพลังงาน ขณะที่ราคาอาหารสดสูงขึ้น

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ใกล้เคียงเดิม

 

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ปี 2566 คาดว่า ขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับอานิสงส์จากเทศกาลวันหยุดยาว วันหยุดพิเศษ และเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันรายได้เกษตรที่ยังขยายตัว จะช่วยพยุงการบริโภค อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตเพื่อส่งออก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย จากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่อง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 พฤษภาคม 2566

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

043 913 532

Neo-econ-div@bot.or.th