แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 4 ปี 2566

ธปท. สภอ. ฉบับที่ 02/2567 | 02 กุมภาพันธ์ 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัวจากไตรมาสก่อนและจากระยะเดียวกันในปีก่อน
  • เศรษฐกิจอีสานหลังปรับฤดูกาลแล้ว ขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงหยุดยาวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนามาก ช่วยกระตุ้นการอุปโภคบริโภค ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  • เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว ตามการอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวจากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มาตรการลดภาระค่าครองชีพ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกหดตัวต่อเนื่องตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัว

ตามการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าหมวดบริการที่ขยายตัวจากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น มาตรการลดภาระค่าครองชีพ และผลของฐานต่ำในปีก่อนที่น้ำท่วมอีสานใต้ ขณะที่สินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อและคุณสมบัติของผู้กู้ที่ด้อยลง และสินค้ากึ่งคงทนหดตัวต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าเพื่อทำงานที่บ้านลดลง

 

การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัว

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่ขยายตัวจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนประเภทอะไหล่เครื่องจักร สอดคล้องกับภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออก หดตัว ตามการส่งออกทุเรียนสดไปจีนหลังสิ้นสุดผลผลิตนอกฤดูกาล อาหารและเครื่องดื่มชูกำลังไป สปป.ลาว และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปเวียดนาม

การนำเข้า ขยายตัว จากจีนเป็นสำคัญ ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์ 

 

รายได้เกษตรกร หดตัวต่อเนื่อง

จากผลผลิตยางพาราที่หดตัวตามจำนวนวันกรีดที่ลดลงจากฝนตกบางพื้นที่ และผลผลิตข้าวนาปีที่หดตัวจากฝนตกล่าช้าและไม่กระจายตัว สำหรับด้านราคาหดตัวตามราคาสุกรที่มีปริมาณสุกรในตลาดเพิ่มขึ้น

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง

ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอที่หดตัวจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว การสีข้าวหดตัวตามผลผลิตข้าวที่ลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง และแป้งมันสำปะหลังหดตัวจากผลผลิตที่ลดลงหลังได้รับผลกระทบจากโรคใบด่าง ขณะที่การผลิตยางพาราแปรรูปขยายตัวตามคำสั่งซื้อ

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราการเข้าพักแรมที่เพิ่มขึ้นทั้งจากระยะเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีขนาดงานใหญ่และจำนวนวันจัดงานมากขึ้น เช่น งาน Countdown 2023 งานคอนเสิร์ต และงานบุญประเพณีช่วงออกพรรษา เป็นต้น

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาอาหารสด และราคาพลังงาน

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น โดยการจ้างงานปรับดีขึ้น ตามจำนวนผู้ประกันตนในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ภาคการค้าและบริการ
มาตรา 40 ที่เพิ่มขึ้น

 

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2567

คาดว่า เศรษฐกิจอีสานโดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงกดดันการบริโภค โดยรวม และกำลังซื้อของฐานรากที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง รายได้เกษตรกรที่ขยายตัว และมาตรการของภาครัฐ (ลดภาระค่าครองชีพ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ Easy e-Receipt) จะช่วยพยุงและกระตุ้นการอุปโภคบริโภคได้ในระยะต่อไป

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 กุมภาพันธ์ 2567

 

หมายเหตุ : 

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

043 913 532

Neo-econ-div@bot.or.th