แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567

ธปท. สภอ. ฉบับที่ 07/2567 | 03 พฤษภาคม 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจอีสานหดตัวจากไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวต่อเนื่อง และสินค้าอุปโภคบริโภคที่กลับมาหดตัวหลังเร่งใช้จ่ายในช่วงวันหยุดพิเศษปลายปีก่อน ขณะที่รายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัวจากปัจจัยด้านราคาช่วยพยุงการบริโภคเล็กน้อย และภาคบริการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีขนาดงานใหญ่และผู้ร่วมงานมากขึ้น 
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2/2567 คาดว่า ขยายตัวได้เล็กน้อย จากปัจจัยพิเศษช่วงเทศกาลสงกรานต์ ช่วยกระตุ้นการบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวันและภาคบริการท่องเที่ยวขยายตัว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดหลัก และจังหวัดท่องเที่ยว รวมถึงผลการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณ ประจำปี 2567 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อฐานรากที่ยังอ่อนแอ ค่าครองชีพและภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

รายได้เกษตรกร กลับมาขยายตัว (เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)

จากราคายางพาราตามผลผลิตในประเทศที่ลดลง ขณะที่ความต้องการนำวัตถุดิบไปใช้ผลิตยางล้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งอ้อยตามราคาขั้นต้นที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ด้านผลผลิตโดยรวมหดตัว

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง

ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอที่หดตัวตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า น้ำตาลทรายหดตัวตามผลผลิตของอ้อยที่ลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง ขณะที่การผลิตเครื่องแต่งกายขยายตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว และสต็อกคู่ค้าเริ่มลดลง

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างชาติ ในช่วงวันหยุด เทศกาลตรุษจีน และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีขนาดงานใหญ่และผู้ร่วมงานมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดหลัก อาทิ งานวิ่งมาราธอน คอนเสิร์ต งานเกษตร และงานสักการะพระบรมสารีริกธาตุ อย่างไรก็ตาม ผู้เยี่ยมเยือนบางส่วนเดินทางไปกลับภูมิลำเนา จึงทำให้อัตราการเข้าพักแรมปรับลดลง

 

การบริโภคภาคเอกชน กลับมาหดตัว

ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่องจากความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินและคุณสมบัติของผู้กู้ที่ด้อยลง สินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวหลังเร่งใช้จ่ายไปในช่วงวันหยุดพิเศษปลายปีก่อน สำหรับมาตรการ Easy e-Receipt ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เล็กน้อย ขณะที่สินค้าบริการขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคบริการท่องเที่ยว

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่กลับมาหดตัว จากทั้งพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์กลับมาขยายตัวตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และยอดนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามการส่งออกที่ขยายตัว จาก สปป. ลาว ในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และน้ำตาลเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ขยายตัว จาก สปป. ลาว และกัมพูชา ในมันสำปะหลัง เพื่อทดแทนผลผลิตภายในประเทศที่ลดลงจากผลกระทบของโรคใบด่าง และจากเวียดนาม ในหมวดโทรศัพท์มือถือ 

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลง (เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารสด

 

ตลาดแรงงาน ชะลอลง ตามทิศทางการชะลอลงของการจ้างงานในภาคเกษตร การค้าและบริการ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ลดลง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 พฤษภาคม 2567

 

หมายเหตุ : 

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

043 913 532

Neo-econ-div@bot.or.th