แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 2 ปี 2567

ธปท. สภอ. ฉบับที่ 12/2567 | 02 สิงหาคม 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจอีสานขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่กลับมาขยายตัวชั่วคราวในช่วงวันหยุดยาว และเทศกาลสงกรานต์ ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับภาคบริการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ตามการจัดงานที่มีขนาดใหญ่และผู้ร่วมงานมากขึ้น ด้านรายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยด้านราคาช่วยพยุงการบริโภคเล็กน้อย สำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวตามคำสั่งซื้อ
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 3/2567 คาดว่า หดตัวเล็กน้อย ตามการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มกลับมาหดตัวจากความระมัดระวังในการใช้จ่ายของกลุ่มครัวเรือนฐานรากมากขึ้น ส่วนรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวจากด้านราคา ช่วยพยุงการบริโภคได้บางส่วน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นหลังการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และการผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง (เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)

ตามราคาอ้อยโรงงานและข้าวเปลือกที่ขยายตัว จากผลผลิตที่ลดลงหลังได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ยางพาราที่ขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตยางล้อที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ผลผลิตโดยรวมหดตัวต่อเนื่อง

 

ภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว

จากการผลิตน้ำตาลทรายที่ขยายตัว ตามการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว ตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตยางพาราแปรรูปหดตัวตามผลผลิตที่ลดลงจากผลกระทบเอลนีโญ 

 

ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัวเล็กน้อย

ทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวที่มีการจัดงานขนาดใหญ่และผู้ร่วมงานมากขึ้นทั้งภูมิภาค ส่งผลให้อัตราการเข้าพักแรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

 

การบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัว

จากปัจจัยพิเศษเป็นสำคัญ เช่น วันหยุดยาว เทศกาลสงกรานต์ ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค กึ่งคงทน และบริการให้ขยายตัว ขณะที่สินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่องจากความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินและคุณสมบัติของผู้กู้ที่ด้อยลง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่อง จากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่หดตัว ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวต่อเนื่อง ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดนำเข้าสินค้าทุนที่ยังขยายตัว

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามการส่งออกที่ขยายตัว จากจีน ในหมวดทุเรียนสด ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ 
เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ขยายตัว จากจีน ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และจากเวียดนาม ในหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น (เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาพลังงาน และอาหารสด

 

ตลาดแรงงาน ปรับลดลงเล็กน้อย ตามแรงงานนอกภาคเกษตรที่ลดลงในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง การผลิตเสื้อผ้า และภาคขนส่ง ขณะที่แรงงานเกษตรปรับเพิ่มขึ้น หลังเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณความต้องการจ้างงานของหน่วยงานภาครัฐ และแรงงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น หลังการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 สิงหาคม 2567

 

หมายเหตุ : 

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

043 913 532

Neo-econ-div@bot.or.th