หน้าที่การออกใช้ธนบัตร


 

​เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายตัวมายังทวีปเอเชียจนกลายเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพเข้ามาในประเทศไทยเพื่ออาศัยเป็นฐานทัพในการสู้รบและยึดครองประเทศข้างเคียงซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศคู่สงคร​าม ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะจำยอมต้องทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และถูกยื่นข้อเสนอให้จัดตั้งธนาคารกลางโดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานเป็นชาวญี่ปุ่น ดังนั้น เพื่อรักษาอิสรภาพและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศมิให้ตกอยู่​ภายใต้การควบคุมของชนต่างชาติ รัฐบาลไทยจึงเร่งจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นอย่างรีบด่วน โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485​ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2485 พร้อมทั้งจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นทำหน้าที่ในฐานะธนาคารกลางของประเทศ และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485

 

พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485


มาตรา 5​ "ให้จัดตั้งธนาคารกลางขึ้น เรียกว่า  'ธนาคารแห่งประเทศไทย'  เพื่อรับมอบการออกธนบัตรจากกระทรวงการคลัง และประกอบธุรกิจอันพึงเป็นงานธนาคารกลางตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในพระราชบัญญัตินี้"

 

ดังนั้น กิจการทั้งปวงและอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับธนบัตร ซึ่งเดิมเป็นงานในหน้าที่ของกองเงินตรา กรมคลัง กระทรวงการคลัง จึงได้โอนมาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นับแต่นั้นมา

 

ต่อมาในพุทธศักราช 2551 เพื่อให้ ธปท. ดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง ในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน ทันต่อเหตุการณ์และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยตรา พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ขึ้น มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2551

 

พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2551​


พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ธปท. ที่เกี่ยวข้องกับธนบัตรและบัตรธนาคารไว้ ดังนี้ ​

 

มาตรา 7  ธปท. มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน

 

มาตรา 8  ให้ ธปท. มีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ เพื่อบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย 

(1) การออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร 

 

มาตรา 9  ห้าม ธปท. กระทำการดังต่อไปนี้

(5) รับจ้างพิมพ์ธนบัตร บัตรธนาคาร พันธบัตร อากรแสตมป์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นใดที่มีระบบป้องการการปลอมแปลง ตลอดจนจำหน่ายหมึกพิมพ์หรืออุปกรณ์อันเกี่ยวเนื่องกับการพิมพ์สิ่งพิมพ์ดังกล่าว เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้กระทำกับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ธปท.  

 

มาตรา 30  ให้ ธปท. เป็นผู้ออกธนบัตรของรัฐบาล โดยอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

 

มาตรา 31  ให้ ธปท. มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะออกบัตรธนาคารในราชอาณาจักร ให้ถือว่าบัตรธนาคารที่ ธปท. ออกตามวรรคหนึ่ง เป็นธนบัตรตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และให้การออกและจัดการบัตรธนาคารอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวด้วย

 

มาตรา 32  ให้ถือว่าบัตรธนาคารเป็นเงินตราตามประมวลกฎหมายอาญา