การผลิตธนบัตร
เริ่มด้วยการกำหนดเรื่องราว ภาพ และข้อความที่จะนำมาใช้ในธนบัตร ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมประจำชาติ หลังจากนั้นจึงจัดองค์ประกอบภาพด้วยการเขียนลวดลายและสีของแบบธนบัตรให้คล้ายกับธนบัตรที่จะพิมพ์จริงมากที่สุด
ในปัจจุบันยังคงออกแบบด้วยฝีมือของศิลปินผู้มีความรู้ความชำนาญด้านศิลปะและมีความละเอียดประณีต ควบคู่ไปกับการสร้างลวดลายธนบัตรด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ซึ่งหลักในการออกแบบต้องคำนึงถึงความสวยงามน่าใช้ ขนาดที่เหมาะสมสะดวกต่อการพกพา เน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ข้อจำกัดด้านเทคนิคในการผลิต และลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่จะนำมาใช้
...
เป็นขั้นตอนการผลิตต้นฉบับเพื่อเป็นแม่แบบสำหรับผลิตแม่พิมพ์ธนบัตร ซึ่งมีทั้งการแกะแผ่นโลหะด้วยมือเพื่อผลิตแม่พิมพ์เส้นนูน และงานเขียนลวดลายสีพื้นด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นลายเส้นที่มีความละเอียดซับซ้อนสูงเพื่อผลิตแม่พิมพ์สีพื้น ในขั้นตอนนี้จะต้องอาศัยความประณีตและความอุตสาหะของบุคลากรเป็นพิเศษ เพื่อให้ลวดลายทุกเส้นคมชัดสวยงาม โดยเฉพาะพนักงานแกะโลหะที่ต้องได้รับการฝึกฝนทักษะจนชำนาญและสั่งสมประสบการณ์นานปี กว่าจะสามารถแกะลวดลายได้งดงาม ถูกสัดส่วน
หลังจากนั้น จึงประกอบต้นฉบับทั้งหมดเข้าด้วยกันตามแบบโดยเทคนิคการถ่ายภาพทางการพิมพ์และเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้สำหรับผลิตแม่พิมพ์สีพื้น แม่พิมพ์เส้นนูน และแม่พิมพ์ลายเซ็นต่อไป
.
3.1) การพิมพ์สีพื้น
เป็นงานขั้นตอนแรกของการพิมพ์ธนบัตร โดยใช้เครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพได้ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน ทำให้บางส่วนของลวดลายที่ตั้งใจออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตรซ้อนทับกันสนิท หรือประกอบขึ้นเป็นลวดลายที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงอย่างหนึ่ง
3.2) การพิมพ์เส้นนูน
เป็นการพิมพ์ภาพและลวดลายต่าง ๆ ด้วยเครื่องพิมพ์แบบพิเศษที่ใช้แรงกดพิมพ์สูงและหมึกพิมพ์ซึ่งมีความเหนียวหนืดสูง เพื่อทำให้หมึกพิมพ์กองนูนบนผิวกระดาษ ทำให้ได้รายละเอียดและความอิ่มตัวของสีสูง ใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ และตัวเลขแจ้งราคาด้านหน้าธนบัตร ซึ่งเป็นลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่สำคัญในการผลิตธนบัตรและสิ่งพิมพ์มีค่าอื่น
3.3) การพิมพ์เลขหมาย
ธนบัตรที่มีคุณภาพตามมาตรฐานตามที่กำหนดจะถูกส่งไปพิมพ์เลขหมาย ด้วยการพิมพ์แบบพื้นนูน (Letterpress Printing) แม่พิมพ์ของเลขหมายมีลักษณะเป็นวงแหวน 9 วง เรียงติดกันเป็น 1 ชุด ประกอบด้วย หมวดเลขหมาย หมวดตัวอักษร และเลขหมาย 7 หลัก โดยหมายเลขธนบัตรแต่ละฉบับที่เป็นแบบและชนิดราคาเดียวกันจะไม่ซ้ำกันเด็ดขาด นอกจากนี้ หมึกที่ใช้พิมพ์เลขหมายเป็นหมึกพิมพ์ พิเศษ เมื่อส่องภายใต้รังสีเหนือม่วงจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเรืองแสงได้
.
การตรวจสอบคุณภาพแผ่นพิมพ์ธนบัตรถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่ง เพื่อให้ธนบัตรที่จะนำออกใช้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งธนบัตรทุกแผ่นทุกฉบับจะต้องผ่านการตรวจนับจำนวนทุกขั้นตอนอย่างละเอียด ตั้งแต่กระดาษเปล่าจนตัดเป็นธนบัตรสำเร็จรูป โดยการคัดแยกแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ ได้แก่
1. แผ่นพิมพ์ดี คือ แผ่นพิมพ์ที่มีธนบัตรทุกฉบับตรงตามมาตรฐาน จะส่งไปพิมพ์เลขหมายหมวดปกติ
2. แผ่นพิมพ์ชำรุดบางส่วน คือ แผ่นพิมพ์ที่มีธนบัตรบางฉบับคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน จะส่งไปพิมพ์เลขหมายหมวดชำรุดบางส่วน
3. แผ่นพิมพ์เสีย คือ แผ่นพิมพ์ธนบัตรที่คุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน จะถูกส่งไปทำลายโดยมีมาตรการควบคุมจำนวนทั้งก่อนและหลังการทำลายอย่างรัดกุม
.
แผ่นพิมพ์ธนบัตรที่ผ่านการพิมพ์เลขหมายลายเซ็นแล้ว จะถูกส่งไปผลิตเป็นธนบัตรสำเร็จรูปด้วยการตัดเป็นรายฉบับ และเข้าสู่การรัดแหนบ รัดมัด และห่อด้วยพลาสติก โดยจะมีการตรวจนับจำนวนธนบัตรในทุกขั้นตอนของการผลิต เพื่อให้ธนบัตรมีจำนวนถูกต้อง ครบถ้วน พร้อมจัดส่งสู่มือประชาชนต่อไป
.