ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS)

BIS

 

ความเป็นมาและหน้าที่

 

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2473 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีหน้าที่หลัก ในการดูแลการจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าปฏิกรรมสงคราม ซึ่งรวมถึงการรวบรวมเงินและชำระเงินค่างวด (เป็นเหตุผลของการตั้งชื่อว่า "ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ")

 

เมื่อหน้าที่ดูแลการจัดการต่าง ๆ เกี่ยวกับค่าปฏิกรรมสงครามได้สิ้นสุดลง ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศได้ปรับเปลี่ยนบทบาทโดยทำหน้าที่เป็นธนาคารของธนาคารกลางและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ผ่านการให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพื่อบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความร่วมมือและเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทางการเงิน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการทำวิจัยทางเศรษฐกิจและการเงินอีกด้วย สำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศตั้งอยู่ที่เมือง บาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีสาขา 2 แห่ง คือที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และที่ประเทศเม็กซิโก

BIS building

บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ

 

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศเป็นธนาคารสำหรับธนาคารกลาง โดยไม่รับฝากเงินหรือให้บริการกับบุคคลและองค์กรภายนอกโดยทั่วไป ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศมีบทบาทที่สำคัญดังนี้

บทบาท BIS

 

2.1 ส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทางการเงิน

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศจัดให้มีการประชุมและสัมมนาในประเด็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกและพัฒนาการของตลาดการเงิน อาทิ การประชุมระดับผู้ว่าการธนาคารกลางทุก 2 เดือน (Bi-Monthly Meeting) ระดับรองผู้ว่าการในทุกปี รวมทั้งงานสัมมนาทั่วไปสำหรับ central banker

 

อีกทั้ง ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศยังมีคณะทำงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลและเสนอแนะนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของธนาคารกลาง รวมถึงหารือเพื่อกำหนดมาตรฐานสากลในด้านที่เกี่ยวข้องดังนี้

 

คณะกรรมการหน้าที่
The Basel Committee on Banking Supervision (BCBS)

กำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลให้เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน เพื่อรักษา financial stability เช่น เกณฑ์ Basel III 

The Committee on Global Financial Systems (CGFS)

ติดตามและประเมินความเสี่ยงในตลาดการเงินโลก

The Markets Committee (MC)

ติดตามภาวะตลาดการเงินโลก

The Committee on Payments and Market Infrastructures (CPMI)

กำหนดมาตรฐานกำกับดูแลระบบการชำระเงินและ financial infrastructure อื่น รวมทั้งดำเนินกิจกรรมที่สนับสนุน financial stability เช่น จัดทำ Red Book รวบรวมข้อมูล สถิติที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินในประเทศสมาชิก

The Irving Fisher Committee on Central Bank Statistics (IFC)

คณะทำงานข้อมูลสถิติธนาคารกลาง

Central Bank Governance Group (CBGG)

เวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างสถาบันและการดำเนินงานของธนาคารกลาง

 

นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศยังส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคผ่านสำนักงานสาขาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ สำนักงานเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสำนักงานสาขาภูมิภาคอเมริกา ณ ประเทศเม็กซิโก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือของธนาคารกลางสมาชิกในด้านการกำกับสถาบันการเงินและส่งเสริมเสถียรภาพระบบการเงินผ่าน Financial Stability Institute

2.2 เป็นคู่ค้ากับธนาคารกลาง โดยทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารกลาง และเป็นทรัสตี สำหรับธุรกรรมที่เกี่ยวกับองค์กรการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ให้บริการที่หลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศให้แก่ธนาคารกลาง  โดยให้บริการผ่านห้องค้าเงิน 3 แห่ง ได้แก่สำนักงานใหญ่เมืองบาเซิล สำนักงานเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสำนักงานประเทศเม็กซิโก

 

นอกจากการให้บริการตามรูปแบบมาตรฐานทั่วไป เช่นการรับฝากเงินแล้ว  ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มผลตอบแทนในสินทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารกลาง และยังเป็นตัวแทนทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศและทองคำแทนลูกค้าอีกด้วย

 

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศยังทำหน้าที่ผู้จัดการทุนในการบริหารทุนสำรองทางการแก่ธนาคารกลาง  โดยอาจเป็นข้อตกลงระหว่างธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและธนาคารกลางนั้น ๆ หรือในรูปแบบกองทุนเปิด

 

นอกจากนี้ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศยังมีการให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่ธนาคารกลางโดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน และประสานเกี่ยวกับเงินกู้ฉุกเฉินในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน.

 

2.3 เป็นศูนย์กลางงานวิจัยเศรษฐกิจและการเงิน

งานวิจัยของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ การเงิน และกฎหมายได้สนับสนุนการประชุมต่าง ๆ รวมทั้งการทำงานของคณะทำงานกลุ่มต่าง ๆ นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศยังเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสถิติระหว่างธนาคารกลาง และเผยแพร่สถิติของสถาบันการเงิน หลักทรัพย์ ตลาดเงินตราต่างประเทศ และตลาดตราสารอนุพันธ์

 

2.4 เป็นเวทีส่งเสริมนวัตกรรมและ knowledge-sharing

เนื่องจากบทบาทของเทคโนโลยีในภาคการเงินที่เพิ่มขึ้น ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศจึงได้ส่งเสริมความร่วมมือของธนาคารกลางสมาชิกในด้านนวัตกรรมและการดูแลความเสี่ยงที่อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมผ่าน BIS Innovation Hub Centre ที่กระจายอยู่ตามศูนย์กลางทางการเงินทั่วโลก ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ลอนดอน สตอกโฮล์ม (Nordic centre) โทรอนโต และ แฟรงก์เฟิร์ต/ปารีส (Eurosystem centre)

โครงสร้างองค์กร

 

การตัดสินใจในด้านนโยบายของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับผู้บริหาร 3 ระดับที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมระดับผู้ว่าการธนาคารกลางที่เป็นสมาชิก คณะกรรมการบริหาร และคณะผู้บริหาร โดยคณะผู้บริหารจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคาร เช่น การจัดสรรงบประมาณ นโยบายภายใน และการทำธุรกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ

 

ปัจจุบันธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศมีธนาคารกลาง 63 แห่งเป็นสมาชิก โดยสมาชิกจะมีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนเสียงในการประชุมสามัญประจำปี  โดยสิทธิในการลงคะแนนเสียงจะเป็นไปตามอัตราส่วนการถือหุ้นของแต่ละประเทศสมาชิก

ความสัมพันธ์กับไทย

 

ธปท. เข้าเป็นสมาชิกและถือหุ้นในธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศในปีพ.ศ. 2543 โดยถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น ต่อมาธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ได้ออกระเบียบให้ซื้อคืนหุ้นที่ถือครองโดยเอกชน และเปิดโอกาสให้สมาชิกที่เป็นธนาคารกลางซื้อหุ้นเพิ่มตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่ง ธปท. ได้ซื้อหุ้นเพิ่มจำนวน 211 หุ้นในปี พ.ศ. 2548 ส่งผลให้ปัจจุบัน ธปท. ถือหุ้นจำนวน 3,211 หุ้น คิดเป็น 0.6% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

 

ในฐานะผู้ถือหุ้น ผู้แทน ธปท. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมผู้ว่าการทุก 2 เดือนที่เมืองบาเซิล โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับธนาคารกลางทั่วโลกเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายธนาคารกลาง ความท้าทายและนโยบายที่จะมีผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ และตลาดการเงินโลกและติดตามประเด็นใหม่ๆ ที่จะกระทบเศรษฐกิจและระบบการเงิน เช่น ประโยชน์และความเสี่ยงของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการเงิน (Fintech) เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเป็นช่องทางแสดงความเห็นและข้อกังวล ต่อประเด็นเชิงนโยบาย และเกณฑ์กำกับต่างๆ กับธนาคารกลางประเทศหลัก และผู้ออกเกณฑ์กำกับด้วย

 

นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศยังจัดให้มีการประชุมของผู้ชำนาญการในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการเงิน เช่น ประเด็นทางด้านกฎหมาย การบริหารเงินสำรองทางการ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ธรรมาภิบาลและการตรวจสอบกิจการภายใน รวมถึงความร่วมมือทางด้านเทคนิคต่างๆ  นอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจากธนาคารกลางแล้ว  ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศยังเชิญผู้บริหารระดับสูง และผู้ชำนาญการจากองค์กรอื่น ๆ อีกด้วย

 

ที่ผ่านมาธปท. ได้ส่งพนักงานเข้าร่วมโครงการ Research Network & Research Fellow เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายนักวิจัยกับนักวิชาการชั้นนำจากทั่วโลก โดยส่งนักวิจัยไทยไปประจำสำนักงานธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง เพื่อพัฒนาทักษะและเสริมองค์ความรู้ในแวดวงเศรษฐกิจการเงิน รวมถึงการสนับสนุนให้นักวิจัยเข้าร่วม workshops และ seminars ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศเพื่อเสริมความรู้ทางวิชาการด้วย

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก  http://www.bis.org

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ทีมองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สายองค์กรสัมพันธ์
E-mail: IND-InterFinOrg@bot.or.th