กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

imf

ภูมิหลัง

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 จากการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference หรือที่รู้จักในนาม Bretton Woods Conference โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา และมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ

 

ข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนดให้กองทุนการเงินฯ ทำหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ  สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวอย่างสมดุล เสริมสร้างเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ สนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน

บทบาทหลัก

 

กองทุนการเงินฯ มีบทบาทหลักในการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางการเงิน  และความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก เพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ

 

การสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ : กองทุนการเงินฯ ติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด และมีการประชุมหารือกับประเทศสมาชิกเป็นประจำ ( หรือ Article IV Consultation) ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดจัดประชุมทุกปี  โดยเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ จะไปเยือนประเทศสมาชิกเพื่อประเมินภาวะและเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก รวมทั้งให้คำแนะนำนโยบาย  ทั้งนี้ กองทุนการเงินฯ จะรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อนำมาประเมินภาวะเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยจะเผยแพร่ผลการประเมินทุกครึ่งปีในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) และรายงานเสถียรภาพการเงินโลก (Global Financial Stability Report) 

บทบาท imf

ความช่วยเหลือทางการเงิน : กองทุนการเงินฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินเพื่อช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินกู้ (facilities) ประเภทต่างๆ ซึ่งประเทศที่ขอความช่วยเหลือจะต้องดำเนินนโยบาย หรือมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการชำระเงินตามที่กำหนดในจดหมายแสดงเจตจำนง (Letter of Intent)  เงินทุนของโครงการเงินกู้ของกองทุนการเงินฯ ได้มาจากการชำระเงินค่าโควตาของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ ดังนั้น ความสามารถในการให้กู้ของกองทุนการเงินฯ จึงกำหนดโดยโควตารวมของประเทศสมาชิกเป็นหลัก  อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินฯ สามารถกู้ยืมเพิ่มเติมจากประเทศที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจำนวนหนึ่งภายใต้ความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินฯ ฉบับใหม่ (New Arrangements to Borrow - NAB) และ โครงการ 2020 Borrowing Agreement (https://www.imf.org/en/About/Factsheets/Where-the-IMF-Gets-Its-Money)

นอกจากนี้ กองทุนการเงินฯ1/ ได้จัดสรรสิทธิพิเศษถอนเงิน1/ (SDR) รอบทั่วไปในปี 2564 เพื่อเสริมเงินสำรองระหว่างประเทศให้ประเทศสมาชิกเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและการเงินโลก

 

ความช่วยเหลือทางวิชาการ : กองทุนการเงินฯ ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิกเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกในการกำหนดและดำเนินนโยบาย 4 ด้านหลัก คือ 1) นโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงิน 2) นโยบายการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ 3) สถิติข้อมูล และ 4) กฎหมายเศรษฐกิจการเงิน  นอกจากนี้ กองทุนการเงินฯ ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนาสำหรับประเทศสมาชิกที่สถาบันฝึกอบรมของกองทุนการเงินฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี และสถาบันฝึกอบรมในภูมิภาคต่างๆ (ออสเตรเลีย บราซิล สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย สิงคโปร์ ตูนิเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต) โดยในไทยมี IMF Capacity Development Office in Thailand (CDOT) ตั้งอยู่ที่ ธปท.

 

------------------------------------------------------------------------------------

1/ สิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) เป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินฯ เมื่อปี 2512 สำหรับเสริมเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ในขณะนั้น เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าและการเงินโลก นอกจากนี้ SDR ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยบัญชีสำหรับกองทุนการเงินฯ โดยกำหนดมูลค่าเทียบกับกลุ่มเงินตราสกุลหลัก 5 สกุล คือ ดอลลาร์ สรอ. ยูโร เยนญี่ปุ่น ปอนด์สเตอร์ลิง และหยวน

โครงสร้างองค์กร

 

สภาผู้ว่าการกองทุนการเงินฯ ประกอบด้วยผู้ว่าการจากแต่ละประเทศสมาชิก จะประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้งระหว่างการประชุมประจำปีกองทุนการเงินฯ และธนาคารโลกเพื่อหารือและตัดสินใจนโยบายสำคัญของกองทุนการเงินฯ  นอกจากนี้ ยังมี International Monetary and Financial Committee (IMFC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 24 ท่าน ตามองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ  โดย IMFC ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสภาผู้ว่าการ  ซึ่งจะพิจารณาและจัดทำข้อเสนอสำหรับประเด็นนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลระบบการเงินโลก

 

สำหรับคณะกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ จะดูแลการดำเนินกิจการทั่วไปของกองทุนการเงินฯ ตามข้อเสนอของ IMFC  ทั้งนี้ กรรมการจัดการกองทุนการเงินฯ จะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารสูงสุดของเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ 

 

สมาชิกภาพ : จำนวนประเทศสมาชิกของกองทุนการเงินฯ ได้เพิ่มจาก 29 ประเทศเมื่อปี 2488 เป็น 190 ประเทศในปัจจุบัน โดยประเทศสมาชิกล่าสุดคือ ประเทศอันดอร์รา ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนการเงินฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ประเทศที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการเงินฯ จะต้องเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติก่อน

 

โควตา : เมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนการเงินฯ ประเทศสมาชิกจะได้รับจัดสรรจำนวนโควตาในสกุลสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ตามขนาดของเศรษฐกิจและความสำคัญของประเทศสมาชิกนั้นๆ เทียบกับเศรษฐกิจโลก ตามปกติกองทุนการเงินฯ จะทำการทบทวนโควตาทุก 5 ปี เพื่อปรับปรุงโควตาของแต่ละประเทศให้เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อเพิ่มทุนดำเนินการของกองทุนการเงินฯ ให้พอเพียงกับความจำเป็น

 

โควตามีบทบาทสำคัญในการกำหนดสิทธิ และวงเงินกู้ของประเทศสมาชิก กล่าวคือ ประเทศสมาชิกจะได้รับคะแนนเสียงพื้นฐานเท่ากันจำนวน 250 คะแนน และเพิ่มอีกหนึ่งคะแนนเสียงต่อโควตา 100,000 SDR  นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกสามารถกู้เงินจากกองทุนการเงินฯ ได้ไม่เกินร้อยละ 100 ของจำนวนโควตาต่อปี และรวมกันไม่เกินร้อยละ 300 ของจำนวนโควตา

ความสัมพันธ์กับไทย

 

สมาชิก : ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 44 ของกองทุนการเงินฯ  เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2492  โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นตัวแทนของประเทศไทยในกองทุนการเงินฯ ตามพ.ร.บ. ให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ พ.ศ. 2494  รวมทั้งผู้ว่าการและรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นผู้ว่าการและผู้ว่าการสำรองในกองทุนการเงินฯ ตามลำดับ  ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโควตาเท่ากับ 3211.9 ล้าน SDR หรือร้อยละ 0.67 ของจำนวนโควตาทั้งหมด เทียบเท่ากับ 33,578 คะแนนเสียง 

การสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ : กองทุนการเงินฯ จะประเมินภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นประจำทุกปีภายใต้พันธะข้อ 4 ของข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ  นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการตามพันธะข้อ 8 ของข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ โดยยกเลิกการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้า ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2533  และล่าสุด ประเทศไทยได้เข้าร่วมรับการประเมินเสถียรภาพภาคการเงินภายใต้กรอบ Financial Sector Assessment Program1/ (FSAP) เมื่อต้นปี 2562
link: รายงาน Article IV Staff Report ของไทยที่ผ่านมา

 

ความช่วยเหลือทางการเงิน : ประเทศไทยเคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินฯ ภายใต้โครงการเงินกู้ Stand-by2/ รวม 5 ครั้งในวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431 ล้าน SDR โดยครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2521 จำนวนเงิน 45.25 ล้าน SDR  ครั้งที่สองเมื่อเดือนมิถุนายน 2524 จำนวน 814.5 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 345 ล้าน SDR) ครั้งที่สามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 จำนวน 271.5 ล้าน SDR  ครั้งที่สี่เมื่อเดือนมิถุนายน 2528 จำนวน 400 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 260 ล้าน SDR)  และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จำนวน 2,900 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 2,500 ล้าน SDR)  (ดูเพิ่มเติม)

 

บทบาทไทยใน IMF :

imf

 

------------------------------------------------------------------------------------

1/ โครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) เป็นโครงการร่วมระหว่างกองทุนการเงินฯ และธนาคารโลก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการเงินในประเทศสมาชิก การประเมินภายใต้โครงการ FSAP จะเน้นการระบุจุดแข็งและจุดอ่อนในระบบการเงินของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม เพื่อช่วยจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการปฏิรูป
 
2/ Stand-by เป็นโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินระยะสั้น  และเป็นโครงการเงินกู้ที่ประเทศสมาชิกเข้าร่วมมากที่สุด โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 12 – 24 เดือน และระยะเวลาชำระคืน 3¼ - 5  ปี และมีอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมสำหรับวงเงินกู้ที่สูง

 

รู้หรือไม่

ประเทศไทยได้ชำระคืนเงินกู้จากกองทุนการเงินฯ ที่ได้รับความช่วยเหลือเมื่อปี 2546 ครบทั้งจำนวนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นการชำระคืนก่อนกำหนดถึง 2 ปี และในปัจจุบันไทยไม่มีภาระหนี้คงค้างกับกองทุนการเงินฯ แล้ว

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีสถานะเป็นประเทศผู้ให้กู้แก่ IMF ในลักษณะการกันวงเงิน หรือ credit line ผ่านการเป็นภาคีความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินฯ ฉบับใหม่ (New Arrangements to Borrow) ในวงเงินไม่เกิน 680 ล้าน SDR (909 ล้านดอลลาร์ สรอ.) และร่วมสมทบตามสัญญา Borrowing Agreement ในวงเงิน 1.72 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในกรณีที่ IMF มีสภาพคล่องจากโควตาไม่เพียงพอกับการปล่อยกู้ 

IMF มีหน้าที่ชัดเจนและจะประสานงานกับธนาคารกลางของประเทศเท่านั้น ไม่มีทำธุรกรรมรายย่อย หรือติดต่อกับประชาชนโดยตรง ซึ่งบ่อยครั้งมักจะถูกแอบอ้างโดยมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ต้องมีการโอนเงินหรือชำระเงินระหว่างประเทศ 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกองทุนการเงินฯ สามารถค้นหาได้จาก (http://www.imf.org/external/country/THA/index.htm) สำหรับข้อมูลล่าสุดของบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยในกองทุนการเงินฯ สามารถค้นหาได้จากรายงานเศรษฐกิจและการเงินประจำปีของ ธปท.

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สายองค์กรสัมพันธ์ 

E-mail: IND-InterFinOrg@bot.or.th