ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC)

APEC

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย ไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม

เอเปคดำเนินงานโดยยึดหลักฉันทามติ ความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน ของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคปี 2564 ได้รับรองวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (Putrajaya Vision 2040) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเอเปคในระยะข้างหน้า โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การค้าและการลงทุนเสรี (2) นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และ (3) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม 

ธนาคารกลางได้เข้าร่วมการประชุมภายใต้กรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากมติการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 6 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2541

ธปท.มีบทบาทในการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: APEC FCBDM) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting: APEC SFOM) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยผลการประชุมดังกล่าวจะถูกรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM)

ในปี 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ธปท. ได้มีการขับเคลื่อนงานภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเอเปค โดยเสนอข้อริเริ่มการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาค และจัดทำเอกสารการพิจารณาเชิงนโยบายการเชื่อมโยงการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน (APEC Policy Considerations for Developing Cross-border Payments and Remittances) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถนำไปปรับใช้ตามความสมัครใจเมื่อต้องการเชื่อมโยงการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างกัน ซึ่งข้อริเริ่มดังกล่าวนี้จะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคต่อไป

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมความร่วมมือระหว่างประเทศ 1-2 ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สายองค์กรสัมพันธ์

E-mail: IND-Cooperation@bot.or.th