สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 (ค.ศ. 1967) ณ กรุงเทพฯ เป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความมั่นคงทางการเมือง การเจริญเติบโตทางการค้าและทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาทางสังคมของประเทศสมาชิก แรกเริ่ม อาเซียนประกอบด้วย 5 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาได้ขยายจำนวนประเทศสมาชิกเป็น 10 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาเซียนมีพัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โดยเริ่มต้นจากความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากภูมิภาคอาเซียนมีความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น จึงเปลี่ยนความสนใจมาเน้นที่เรื่องเศรษฐกิจ และเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2560 โดยขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนรวมกันใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีประชากรประมาณ 663.8 ล้านคน ในปี 2564 อาเซียนมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 115 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.5 ของ GDP โลก

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยให้การทำธุรกิจและการลงทุนร่วมกันภายในอาเซียนสะดวกมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ขณะที่การนำจุดแข็งด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมาส่งเสริมซึ่งกันและกันจะทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนดีขึ้น

นอกจากนี้ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านยังถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดนอีกด้วย และอาเซียนยังถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

กระทรวงการคลังและ ธปท. เป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านความร่วมมือทางการเงินและระบบสอดส่องดูแลเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในภูมิภาค โดยดำเนินการภายใต้การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers' and Central Bank Governors Meeting – AFMGM) ซึ่ง ธปท. มีบทบาทส่งเสริมและผลักดันการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจในส่วนของการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน โดยมีเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการรวมกลุ่มในภาคการเงิน (Integration) การส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Inclusion) และการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินในประชาคมอาเซียน (Stability) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงินของทุกประเทศสมาชิก

การรวมกลุ่มทางการเงินมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในหลายด้านผ่านการดำเนินงานของคณะทำงานต่างๆ ดังภาพ ซึ่งในส่วนที่ ธปท. เกี่ยวข้อง ครอบคลุมการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน การพัฒนาตลาดทุนภูมิภาค การพัฒนาระบบชำระเงิน การเข้าถึงบริการทางการเงิน การเปิดเสรีภาคบริการทางการเงิน ตลอดจนการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินในประเทศหนึ่งสามารถเข้าไปทำธุรกิจในอีกประเทศได้ง่ายและสะดวกขึ้น ตามกรอบความร่วมมือเปิดเสรีในภาคธนาคาร "Qualified ASEAN Bank (QAB)" ซึ่งเป็นการเจรจาทวิภาคีตามความสมัครใจและความพร้อมของประเทศสมาชิกเป็นคู่ ๆ ไป เช่น ธปท. กับธนาคารกลางมาเลเซียที่ได้เจรจาเสร็จแล้ว

ASEAN finance process

เมื่อปี 2562 ไทยรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ที่มุ่งหวังให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดบนพื้นฐานการได้รับประโยชน์ร่วมกันเพื่อก้าวไปข้างหน้าสู่ความยั่งยืนในทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคการเงินด้วย โดยเน้นการทำงานใน 3 ด้าน ได้แก่

1) ความเชื่อมโยง (Connectivity) เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางการเงินและส่งเสริมให้การบริการทางการเงินมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย ธปท. มีการดำเนินการที่สำคัญ คือ การผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการส่งเสริมการพัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศ

2) ความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อให้สถาบันการเงินและตลาดตราสารต่างๆ ที่เป็นตัวกลางทางการเงิน ทำหน้าที่ในการจัดสรรเงินทุนไปสู่ภาคธุรกิจโดยเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจและสังคมในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนในระยะสั้น โดย ธปท. จะผลักดัน Sustainable Finance เป็นวาระหลักของอาเซียนและยกระดับความตระหนักรู้เรื่อง Sustainable Banking

3) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Resilience) เพื่อให้ระบบการเงินของภูมิภาคมีเสถียรภาพและปลอดภัย โดย ธปท. จะมุ่งเน้นการพัฒนากรอบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภาคการเงิน ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลทางไซเบอร์ในภาคการเงินที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาความรู้ด้าน Cybersecurity ของบุคลากรทางการเงินของอาเซียน

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมความร่วมมือระหว่างประเทศ 1-2 ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สายองค์กรสัมพันธ์

E-mail: IND-Cooperation@bot.or.th