ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EMEAP)

APEC

EMEAP เป็นความร่วมมือของกลุ่มธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกลางของ 11 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซียญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย

กิจกรรมหลักของกลุ่ม EMEAP ได้พัฒนาขึ้นโดยตลอด ปัจจุบัน EMEAP เป็นเวทีการประชุมในระดับต่างๆ 3 ระดับ ดังนี้ ระดับผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และคณะทำงาน

การประชุมระดับผู้ว่าการ (EMEAP Governors) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ 2539 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาค รวมทั้งตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายในการดำเนินกิจกรรมของคณะทำงานต่างๆ ภายใต้กรอบ EMEAP

การประชุมระดับรองผู้ว่าการ (EMEAP Deputy Governors) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีกำหนดการประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อทบทวนภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินของสมาชิก และยังติดตามความคืบหน้าและให้แนวทางสำหรับการดำเนินงานของคณะทำงานต่างๆ อีกด้วย

คณะกรรมการด้านเสถียรภาพการเงิน (EMEAP Monetary and Financial Stability Committee--MFSC) เป็นคณะกรรมการซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2550 โดยมีรองผู้ว่าการของธนาคารกลางสมาชิกเป็นกรรมการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการสอดส่องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและจัดตั้งกลไกการจัดการวิกฤตการเงินในภูมิภาค โดยมีการรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจการเงินของประเทศสมาชิกเพื่อจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจมหภาค ('Macro-Monitoring Report') และกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการปีละ 2 ครั้ง ก่อนหน้าการประชุมระดับรองผู้ว่าการ

การประชุมคณะทำงานและการประชุมระดับผู้อำนวยการ เพื่อหารือในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับหน้าที่หลักของธนาคารกลาง ดังนี้

1. คณะทำงานด้านตลาดการเงิน (Working Group on Financial Markets): มีหน้าที่หลักในการติดตามและศึกษาแนวทางพัฒนาตลาดการเงิน และตลาดเงินตราระหว่างประเทศ และการบริหารเงินสำรองของประเทศสมาชิก โดยมีผลงานหนึ่งที่สำคัญคือการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียที่ 1 (Asian Bond Fund 1) ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้สกุลดอลลาร์ สรอ. ของประเทศสมาชิก และกองทุนพันธบัตรเอเชียที่ 2 (Asian Bond Fund 2) ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย

2. คณะทำงานด้านการกำกับสถาบันการเงิน (Working Group on Banking Supervision): หน้าที่ศึกษาประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงิน รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสมาชิกในการบังคับใช้หลักเกณฑ์กำกับดูแลใหม่ เช่น Basel III เป็นต้น สมาชิกของคณะทำงานนี้ นอกจากจะมีผู้แทนจากธนาคารกลางแล้ว ยังมีผู้แทนจากองค์กรกำกับดูแลสถาบันการเงินของสมาชิก EMEAP ร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ Australian Prudential Regulation Authority (APRA) ของออสเตรเลีย China Banking Regulatory Commission (CBRC) ของจีน Financial Services Agency (FSA) ของญี่ปุ่น และ Financial Supervisory Service (FSS) ของเกาหลีใต้ และ Indonesia Financial Services Authority หรือ Otoritas Jasa Keuangan (OJK) ของอินโดนีเซีย ในระยะหลัง WGBS ได้พัฒนาบทบาทในการเป็นตัวแทนของภูมิภาค โดยการส่งผู้แทนเข้าร่วมในกลไกการกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ด้วย

3. คณะทำงานด้านระบบการชำระเงิน (Working Group on Payment and Market Infrastructure): ทำหน้าที่ศึกษาและติดตามการพัฒนาระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ในประเทศและการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งการเตรียมการแผนฉุกเฉินกรณีเกิดวิกฤต โดยผลการศึกษาหนึ่งที่คณะทำงานได้จัดทำและเผยแพร่ใน EMEAP website คือ "EMEAP Red Book ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบการชำระเงินของกลุ่มประเทศ EMEAP

4. การประชุมผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Directors' Meeting): จัดการประชุมขึ้นครั้งแรกในปี 2544 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างสมาชิก

 

  แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  http://www.emeap.org

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สายองค์กรสัมพันธ์

E-mail: IND-InterFinOrg@bot.or.th