กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC)

กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน กรอบความร่วมมือนี้เป็นข้อริเริมของไทยเมื่อปี 2555 ที่ประสงค์จะพัฒนากรอบความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง โดยเน้นให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมกระบวนการพัฒนาอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  และได้ประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน 2558

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation Foreign Ministers’ Meeting) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และการประชุมสุดยอดแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation Leaders’ Meeting) จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีกระทรวงต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก โดยแนวทางความร่วมมือของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครอบคลุม 3 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับ 3 เสาหลักอาเซียน ประกอบด้วย

   1. การเมืองและความมั่นคง

   2. เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

      2.1 การขยายการค้าและการลงทุน

      2.2 การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านกายภาพและด้านกฎระเบียบ

      2.3 การส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน

      2.4 การส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ และการจัดการน้ำ

      2.5 การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน

      2.6 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

   3. สังคม วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

ในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีการจัดตั้งคณะทำงาน 6 คณะ เพื่อผลักดันในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

      1. คณะทำงานด้านความเชื่อมโยง

      2. คณะทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพในการผลิต

      3. คณะทำงานด้านความร่วมมือทรัพยากรน้ำ

      4. คณะทำงานด้านการเกษตร

      5. คณะทำงานด้านการลดความยากจน

      6. คณะทำงานด้านความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน

ธปท. เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน (Joint Working Group on Cross-Border Economic Cooperation: JWG-CBEC) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันความร่วมมือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน เช่น การติดตามเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน การตรวจสอบและกำกับสถาบันการเงิน การสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าและการลงทุน และการสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านการชำระเงิน เพื่อส่งเสริมการค้าออนไลน์ (E-commerce) ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. ที่มีความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในระดับทวิภาคีด้วย

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนกลยุทธ์การต่างประเทศ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สายองค์กรสัมพันธ์

E-mail: IND-InterStrategy@bot.or.th