Q&A มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

 

1. ทำไมต้องออกมาตรการทางการเงินในครั้งนี้

 

​เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อ รวมถึงสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว โดยลูกหนี้จะได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นฟูกิจการมากขึ้น

 

2. มาตรการใหม่แตกต่างจากมาตรการเดิมอย่างไร

 

​มีการปรับปรุงคุณสมบัติและเงื่อนไข soft loan เดิมให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และมีโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อลดภาระหนี้ชั่วคราวให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบหนัก  โดยเป็นการตีโอนทรัพย์หลักประกันให้สถาบันการเงิน และมีสิทธิ์ซื้อคืนในอนาคต

หมายเหตุ ปิดโครงการพักทรัพย์ พักหนี้

 

3. ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าเงื่อนไข จะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง

 

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู : ได้รับสินเชื่อใหม่ ด้วยอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี โดยรัฐช่วยชดเชยดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรกให้

โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) : ได้พักภาระหนี้ชั่วคราว จากการให้เจ้าหนี้รับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเพื่อตัดชำระหนี้ โดยลูกหนี้มีสิทธิ์เช่าและซื้อคืนทรัพย์สินในอนาคต และเป็นความสมัครใจของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้

หมายเหตุ ปิดโครงการพักทรัพย์ พักหนี้

 

4. ผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอรับความช่วยเหลือทั้ง 2 มาตรการในช่วงเวลาเดียวกันได้หรือไม่

 

สามารถเข้าร่วมได้ทั้ง 2 มาตรการในช่วงเวลาเดียวกัน หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อลดภาระหนี้ แต่ยังมีความต้องการดำเนินกิจการต่อ สามารถขอสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินกิจการต่อไปได้

หมายเหตุ ปิดโครงการพักทรัพย์ พักหนี้

 

​5. ผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือบริษัทที่ถือหุ้นโดยต่างชาติ สามารถเข้ารับความช่วยเหลือจากมาตรการได้หรือไม่

 

​บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทยสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ โดยไม่ต้องพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อสนับสนุนการจ้างงานในประเทศ

 

 

 

1. ลูกหนี้ที่จะขอสินเชื่อฟื้นฟูต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

 

• บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียน มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย ไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ยกเว้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ) และไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน

 

• ลูกหนี้เดิม : มีวงเงินสินเชื่อ (ไม่รวมสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค แต่รวมวงเงิน soft loan เดิม) ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อรายต่อธนาคาร ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และไม่เป็น NPL ณ สิ้นปี 2562

 

• ลูกหนี้ใหม่ : ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารทุกแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

 

2. ลูกหนี้มีสิทธิ์ได้รับวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูเท่าไหร่

 

• ลูกหนี้เดิม : วงเงินสินเชื่อฟื้นฟูที่ได้รับจากแต่ละธนาคาร (รวมกับวงเงิน soft loan ที่ได้รับแล้ว) ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ* หรือไม่เกิน 50 ล้านบาท แล้วแต่ยอดใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินที่จะได้รับขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร 

 

ตัวอย่าง ลูกหนี้มีวงเงิน 300 ล้านบาท และยอดหนี้ 200 ล้านบาท ณ 31 ธันวาคม 2562 ได้รับวงเงิน soft loan เดิม 40 ล้านบาท (20% ของยอดหนี้) ทำให้มีวงเงินรวม 340 ล้านบาท ต่อมา ต้องการขอสินเชื่อฟื้นฟู จะได้ไม่เกิน 30% ของ 340 ล้านบาท คือ 102 ล้านบาท หักลบกับวงเงิน soft loan ที่ได้ไปแล้ว 40 ล้านบาท เหลือวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูที่จะได้รับสูงสุด 62 ล้านบาท

 

• ลูกหนี้ใหม่ : ไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยนับรวมทุกธนาคาร

หมายเหตุ *วงเงินสินเชื่อไม่นับรวมสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค แต่รวมวงเงิน soft loan ที่ได้รับแล้ว

 

3. ระยะเวลาของสินเชื่อ และการคิดดอกเบี้ยเป็นอย่างไร

 

​ระยะเวลาสินเชื่อ 5 ปี (อาจเกินกว่านั้นได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปีในช่วง 5 ปีแรก ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีแรกให้คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี และธนาคารไม่เรียกเก็บดอกเบี้ย 6 เดือนแรก

 

4. ผู้ประกอบการสามารถใช้สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อวัตถุประสงค์ใดบ้าง

 

​สามารถใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (working capital) เช่น การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้การค้า การจ่ายค่าแรงงาน หรือเพื่อต่อยอดธุรกิจ เช่น การต่อเติมโรงงาน การซื้อเครื่องจักร ทั้งสำหรับธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ ทั้งนี้ ไม่สามารถนำสินเชื่อฟื้นฟูไปชำระคืน soft loan เดิมหรือสินเชื่อที่มีอยู่เดิม เนื่องจากมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประคับประคองกิจการและรักษาการจ้างงานภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอน อีกทั้งเพื่อให้กิจการสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น

 

5. ลูกหนี้สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้มากกว่า 1 แห่งหรือไม่

 

ผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด สามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารได้มากกว่า 1 แห่ง

 

6. รูปแบบการชำระคืนสินเชื่อฟื้นฟูเป็นอย่างไร

 

​การกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินกู้สินเชื่อฟื้นฟูขึ้นอยู่กับธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจจะตกลงกัน โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย

 

7. ธนาคารสามารถเรียกหลักประกันเพิ่มได้หรือไม่

 

ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารแต่ละแห่ง อย่างไรก็ดี โครงการไม่ได้กำหนดให้ลูกหนี้ต้องมีหลักประกันเพิ่มเติม

 

8. การขอสินเชื่อฟื้นฟู มีค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือไม่

 

​ • ในช่วง 5 ปีแรกของสัญญา ธนาคารจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ภายใต้การดำเนินการของธนาคารเอง

 • ผู้ประกอบการยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้บุคคลภายนอก เช่น

o ค่าอากรที่จ่ายให้หน่วยงานราชการ

o ค่าประเมินราคาที่จ่ายให้กับบริษัทประเมินราคาภายนอก

o ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย.

 

> กรณีผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Micro SMEs และ SMEs* ชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. รวม 13% ของวงค้ำประกันสินเชื่อ รายละเอียดดังนี้

 

ปีที่12345678910
ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากลูกหนี้1.00%1.00%1.00%1.00%1.25%1.25%1.25%1.75%1.75%1.75%

 

> กรณีผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Corporate** ชำระค่าธรรมเนียมเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ โดยรัฐจะสนับสนุนจ่ายแทนลูกหนี้ในปีที่ 1 – 6 รวมไม่เกิน 3.5% ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ รายละเอียดดังนี้

ปีที่12345678910
ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากลูกหนี้1.00%1.00%1.25%1.25%1.25%1.25%1.75%1.75%1.75%1.75%
รัฐชดเชยค่าธรรมเนียม0.75%0.75%0.50%0.50%0.50%0.50%    

 

หมายเหตุ

*ลูกหนี้ที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 50 ล้านบาท และได้รับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท / หรือลูกหนี้ใหม่ได้รับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท

**ลูกหนี้ที่มีวงเงินเดิมมากกว่า 50 – 500 ล้านบาทและได้รับวงเงินมากกว่า 15 ล้านบาท / หรือลูกหนี้ใหม่ที่ได้รับวงเงินมากกว่า 15 ล้านบาท

 

9. ธนาคารสามารถเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของธนาคารได้หรือไม่

 

​ธนาคารสามารถเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ธนาคารต้องไม่บังคับทำประกันชีวิตและไม่กำหนดเป็นเงื่อนไขให้ได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

 

10. หากสนใจขอสินเชื่อฟื้นฟู ต้องดำเนินการอย่างไร และเริ่มยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่เมื่อไร

 

​ลูกหนี้สามารถติดต่อธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ หรือธนาคารที่ท่านสะดวก (กรณีที่เป็นลูกหนี้ใหม่) เพื่อขอร่วมโครงการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

11. การอนุมัติสินเชื่อใช้เวลาเท่าไหร่

 

​ธปท. กำชับให้ธนาคารเร่งพิจารณาสินเชื่อฟื้นฟู แต่เนื่องจากธนาคารแต่ละแห่งมีกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่แตกต่างกัน โดยขึ้นกับขนาดของลูกหนี้ด้วย จึงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาอนุมัติสินเชื่อเป็นมาตรฐานได้ ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อโดยเร็วเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้

 

12. หากไม่เข้าคุณสมบัติตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เช่น เป็น NPL ก่อนสิ้นปี 2562 จะมีมาตรการอื่นช่วยเหลือหรือไม่

 

​ลูกหนี้สามารถขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการอื่นของ ธปท. ในการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารได้ นอกจากนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสินเชื่อกับธนาคารหลายแห่ง สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ Multi-creditors เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย

 

13. ทำไมต้องอาศัยตัวกลางคือสถาบันการเงินในการส่งผ่านเม็ดเงินภายใต้มาตรการฟื้นฟูฯ ควรพิจารณาส่งผ่านความช่วยเหลือโดยตรงหรือไม่

 

การกระจายสภาพคล่องไปยังลูกหนี้ที่เดือดร้อน ผู้ที่ดำเนินการจะต้องมีข้อมูลและระบบที่พร้อม มีกลไกบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน สถาบันการเงิน ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกที่พร้อมที่สุด จากเหตุผลต่าง ๆ ได้แก่

 

1. สถาบันการเงินมีข้อมูล เข้าใจธุรกิจ รวมทั้งมีการคัดกรองลูกหนี้และจัดสรรสินเชื่อที่เป็นระบบทำให้สามารถส่งผ่านความช่วยเหลือได้รวดเร็ว

2.สถาบันการเงินมีกลไกการประเมินความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ

3.เพื่อให้สถาบันการเงินมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ที่เสี่ยงได้มากขึ้น พ.ร.ก. จึงได้ออกแบบให้เพิ่มกลไก บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันความเสียหาย

4.แบงก์ชาติสามารถติดตามและดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินได้ใกล้ชิด ซึ่งแบงก์ชาติได้ออกประกาศและกฎเกณฑ์เป็นแนวปฏิบัติให้กับสถาบันการเงิน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. ด้วย

 

14. การดำเนินการตาม พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ เป็นการกู้เงินจากรัฐบาลหรือไม่

 

การดำเนินการตามมาตรการนี้ ไม่ได้ เป็นการกู้เงินของรัฐบาล หรือเกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก. กู้เงินแต่อย่างใด เป็นเพียงการออก พ.ร.ก. เพื่อให้อำนาจแบงก์ชาติ เข้าไปบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อดูแลผู้ประกอบธุรกิจผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และรองรับการที่สถาบันการเงินพิจารณาตีโอนทรัพย์ในโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องนำเงินมาคืนแก่แบงก์ชาติ จึงแตกต่างจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาศัยเงินกู้ภาครัฐเป็นแหล่งเงินทุน ซึ่งรัฐบาลต้องหารายได้หรือเก็บภาษีในอนาคตมาจ่ายคืน

 

อย่างไรก็ดี พ.ร.ก. ที่ออก ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปแบบการร่วมชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการดูแลผู้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ ซึ่งการร่วมชดเชยความเสียหายของรัฐบาลเป็นสิ่งจำเป็นในสภาวะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังคงมีความยืดเยื้อและความไม่แน่นอนสูง

 

 

 

 

1. มาตรการนี้แตกต่างจากการตีทรัพย์ชำระหนี้ตามปกติอย่างไร

 

​มาตรการนี้มีการกำหนดแนวทางการคำนวณราคาซื้อคืนไว้ชัดเจน และให้โอกาสลูกหนี้รายเดิมมาซื้อคืนก่อนเป็นลำดับแรก รวมทั้งภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียม ในขณะที่การตีทรัพย์ชำระหนี้ทั่วไปนั้น ธนาคารมีสิทธิที่จะขายทรัพย์ให้กับใครก็ได้ที่ราคาตลาด

 

2. ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์อย่างไร

 

ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว มีโอกาสในการกลับมาดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต และหลีกเลี่ยงการถูกกดราคาทรัพย์สิน (fire sale)

 

3. ผู้ประกอบการที่จะขอเข้ามาตรการนี้ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

 

• บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียน มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย

• เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้นอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562

• ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน

• มีทรัพย์หลักประกันซึ่งผู้ประกอบธุรกิจได้นำมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายกำหนดกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

 

4. มาตรการนี้จำกัดเฉพาะผู้ประกอบกิจการโรงแรมหรือไม่

 

​มาตรการนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ประกอบกิจการโรงแรมเท่านั้น กิจการอื่นที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันก็สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในอนาคตหรือไม่

 

5. ทรัพย์สินประเภทใดที่สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้

 

โครงการไม่ได้กำหนดประเภททรัพย์สินที่สามารถนำมาตีโอนเพื่อชำระหนี้ได้ เพียงแต่ต้องเป็นทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง

 

6. การตีโอนทรัพย์สิน

 

6.1 กำหนดราคาตีโอนทรัพย์อย่างไร

 

ราคาตีโอนทรัพย์ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งหากธนาคารรับโอนทรัพย์สินด้วยราคาที่ไม่สูง ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ก็จะมีสิทธิในการซื้อทรัพย์สินดังกล่าวคืนในราคาที่ไม่สูงด้วยเช่นกัน

 

6.2 หากตีโอนทรัพย์ที่เป็นหลักประกันแล้ว แต่ยังมีหนี้คงค้างอยู่ มีแนวทางขอรับความช่วยเหลืออย่างไร

 

ลูกหนี้สามารถเจรจากับธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้สำหรับหนี้ที่คงเหลือภายหลังตีโอนทรัพย์แล้ว โดยธนาคารจะพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

 

7. การเช่าทรัพย์สิน

 

7.1 หากลูกหนี้ต้องการเช่าทรัพย์สินกลับเพื่อดำเนินธุรกิจต่อ ต้องทำอย่างไร

 

• ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์ที่เป็นหลักประกันสามารถเช่าทรัพย์สินกลับเพื่อนำไปประกอบธุรกิจต่อได้ โดยแจ้งความประสงค์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ธนาคารรับโอนทรัพย์

• หากลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์ที่เป็นหลักประกันไม่ประสงค์เช่าทรัพย์สิน หรือไม่แจ้งความประสงค์จะใช้สิทธิเช่าภายในระยะเวลาดังกล่าว ธนาคารสามารถนำทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นเช่าได้

 

7.2 หากลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันใช้สิทธิ์เช่าทรัพย์สิน แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาเช่าได้ เช่น ค้างชำระค่าเช่า จะส่งผลต่อสิทธิ์การซื้อคืนหรือไม่

 

ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ์การซื้อคืน ยกเว้นผู้เช่าทำทรัพย์สินเสียหาย ชำรุด เสื่อมค่า อาจไม่ได้รับสิทธิ์ในการซื้อคืน

 

8. การซื้อคืนทรัพย์สิน

 

8.1 ลูกหนี้มีกำหนดระยะเวลาซื้อคืนทรัพย์สินเท่าใด

 

ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์มีสิทธิซื้อคืนได้ภายในระยะเวลา 3 – 5 ปี นับแต่วันที่รับโอน ตามแต่ธนาคารและลูกหนี้ตกลงกัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ธนาคารจะยังไม่ขายทรัพย์สินที่รับโอนจนกว่าจะได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์ว่าจะไม่ใช่สิทธิ์ดังกล่าว

 

8.2  กำหนดราคาซื้อคืนทรัพย์สินอย่างไร

 

• ราคาซื้อคืนทรัพย์สินต้องไม่เกินกว่าราคาที่ธนาคารตีโอน + ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา (carrying cost) ไม่เกิน 1% ต่อปี + ค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อดูแลทรัพย์ที่ได้จ่ายจริงและเหมาะสมตามที่ตกลงกันไว้

• หากลูกหนี้มีการเช่าทรัพย์สินในระหว่างที่ธนาคารรับโอน สามารถนำค่าเช่ามาหักออกจากราคาซื้อคืนทรัพย์สินได้เต็มจำนวน

 

8.3 ลูกหนี้สามารถขอซื้อคืนทรัพย์สินก่อนกำหนดได้หรือไม่

 

ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์มีสิทธิ์ซื้อคืนทรัพย์์สินหลักประกันตามมาตรการได้ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา

 

​8.4 หากลูกหนี้ผิดสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่ตีโอน จะส่งผลกระทบต่อสิทธิ์ซื้อคืนหรือไม่

 

สิทธิ์ซื้อคืนยังคงเดิม เว้นแต่ลูกหนี้ผิดสัญญาจนสถาบันการเงินยกเลิกสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยังคงให้สิทธิลูกหนี้แสดงเจตนาว่าจะซื้อทรัพย์คืนภายใน 30 วัน

 

9. การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่

 

• ธนาคารจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามข้อ 8.2

• ลูกหนี้จะได้รับยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์ ทั้งขาที่โอนให้สถาบันการเงิน และขาที่ซื้อคืนของลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์