บทบาทของสิทธิบัตรต่อนวัตกรรมไทย

19 มิถุนายน 2566

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้สิ่งสำคัญที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนจำนวนมากได้คือ นวัตกรรม (innovation) ที่สร้างคุณค่าในรูปแบบใหม่ หรือตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น การมอบประสบการณ์ใหม่ การแก้ปัญหา ลดความลำบากและเพิ่มความสะดวกสบาย อย่าง ChatGPT หรือ แว่นเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่ผสมผสานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน ที่เปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และยิ่งธุรกิจต้องเผชิญผลกระทบจากวิกฤตโควิดที่ทำให้การเติบโตหยุดชะงักไป นวัตกรรมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อคธุรกิจให้เติบโตได้ โดยหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อนวัตกรรมคือ การมีระบบสิทธิบัตร (patent) ที่ดี ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้บริษัทสร้างนวัตกรรม บทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตรที่มีต่อนวัตกรรม

 

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ให้นิยาม สิทธิบัตร ว่าเป็น สิทธิ ที่ให้กับสิ่งประดิษฐ์หรือกระบวนการที่สร้างประโยชน์ใหม่ หรือ นวัตกรรม โดยสิทธิบัตรให้การคุ้มครอง (protection) แก่ผู้คิดค้นนวัตกรรม ให้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด (term of patent) ซึ่งมักจะคุ้มครองเป็นเวลา 20 ปี เพื่อตอบแทนบุคคลที่สร้างสรรค์นวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ทั้งสติปัญญา เวลา และทุน ดังนั้นระบบสิทธิบัตรที่ดีจะช่วยดึงดูดให้เกิดการถ่ายทอดนวัตกรรมและการลงทุนจากชาวต่างชาติ เนื่องจากระบบการคุ้มครองสิทธิบัตรทำให้บริษัทต่างชาติที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า จะไม่ถูกบริษัทในประเทศลอกเลียนแบบเทคโนโลยี เช่นเดียวกับที่หลายงานวิจัยพบว่าระบบสิทธิบัตรที่เข้มแข็งในประเทศกำลังพัฒนา ช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงของชาวต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) ได้[1] นอกจากนี้ การจดสิทธิบัตรจะมีข้อบังคับให้ผู้คิดค้นเปิดเผยรายละเอียดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมดังกล่าวต่อสาธารณชนอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งให้เกิดการเผยแพร่ความรู้และนำไปสู่การต่อยอดการวิจัยและพัฒนา ด้วยเหตุดังกล่าว คนส่วนหนึ่งจึงเห็นด้วยกับความคุ้มครองตามกฎหมายของสิทธิบัตร เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม

 

ในอีกมุมหนึ่ง คนบางกลุ่มมองว่าสิทธิบัตรอาจไม่ได้นำมาซึ่งสิ่งที่ดีเสมอไป ในช่วงระยะเวลาที่ผู้คิดค้นได้รับการคุ้มครองจากสิทธิบัตรนั้น ผู้คิดค้นจะมีสิทธิในผลิตภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียว จึงทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้า ตัวอย่างเช่น บริษัท A จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ ในช่วงเวลาการคุ้มครองจากสิทธิบัตร บริษัท A จะสามารถผลิต จำหน่าย นำเข้า ผลิตภัณฑ์ หรืออนุญาตให้บริษัทอื่นใช้สิทธิบัตรนั้นโดยได้รับค่าตอบแทน เท่ากับว่าบริษัทอื่น ๆ ถูกกีดกัน (exclusion) ออกจากตลาด การค้าผลิตภัณฑ์นั้น เกิดการจำกัดการแข่งขัน และ บริษัท A สามารถกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยในทศวรรษที่ผ่านมา ราคาสินค้าในอุตสาหกรรมที่มีการจดสิทธิบัตรเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วจะแพงกว่าราคาสินค้าในอุตสาหกรรมที่มีการจดสิทธิบัตรน้อย ถึง 2 เท่า[2] ผลด้านราคานี้ ถือเป็นหนึ่งในข้อเสียของสิทธิบัตรที่มีต่อผู้บริโภค

 

ในบริบทของไทย จากข้อมูลของ WIPO[3]  การยื่นขอสิทธิบัตรในประเทศไทยเทียบกับเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว มีอัตราการเติบโตถึง 55% แต่หากลองคลี่ข้อมูลดูแล้ว จะพบว่าสัดส่วนของการยื่นขอสิทธิบัตรในไทยเกือบ 90% เป็นการยื่นขอของบริษัทต่างชาติ ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นบริษัทไทยที่คาดว่าส่วนใหญ่คือบริษัทขนาดใหญ่ ล่าสุดในปี 2564  ทั่วโลกมีการจดทะเบียนสิทธิบัตรทั้งหมด 3.46 ล้านฉบับ โดยบริษัทไทยยื่นขอสิทธิบัตรรวมทั้งสิ้น 1,548 ฉบับ ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนการยื่นขอสิทธิบัตรของบริษัทสัญชาติเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ยังมีจำนวนที่น้อยกว่าบริษัทจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สิงคโปร์และญี่ปุ่น ถึง 8 และ 266 เท่าตามลำดับ ชวนให้คิดว่าเหตุใดจำนวนการจดสิทธิบัตรของบริษัทไทยจึงมีน้อย?

 

ผู้ขอจดสิทธิบัตรย่อมมีต้นทุน เริ่มตั้งแต่การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตร การค้นข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถยื่นขอจดสิทธิบัตรได้ การจัดทำเอกสารต่าง ๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งต้นทุนในการขอจดสิทธิบัตรอาจจะสูงเกินไป โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจรายย่อยหรือ SMEs ที่ไม่ได้มีเงินทุนหมุนเวียนมากนัก หรืออีกนัยหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากนวัตกรรมที่คิดค้นและพัฒนาจากคนไทยจริง ๆ นั้นมีน้อย การส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ยิ่งในยุคนี้ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว

 

แม้ว่าบริษัทที่จดสิทธิบัตรในไทยส่วนมากจะเป็นบริษัทต่างชาติ แต่เมื่อระยะเวลาการคุ้มครองของสิทธิบัตรสิ้นสุดลง บริษัทไทยก็สามารถนำเอาเทคโนโลยีที่เปิดเผยไว้ในสิทธิบัตรไปใช้ต่อได้ ซึ่งหากระยะเวลาคุ้มครองนานเกินไป บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรก็จะได้กำไรเหนือตลาดเป็นระยะเวลานาน ในทางกลับกัน หากระยะเวลาคุ้มครองสั้นเกินไปก็อาจบั่นทอนแรงจูงใจในการพัฒนาและวิจัยจนไม่เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ การพิจารณาจุดสมดุลของระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร (term of patent) ให้เหมาะสมกับประเภทของนวัตกรรมและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ จึงเป็นจุดสำคัญที่ผู้เขียนมองว่าจะทำให้เกิดการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจได้นั่นเอง

 

**บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

 

[1] Lee, Minsoo and Park, Donghyun, Intellectual Property Rights, Quality of Institutions, and Foreign Direct Investment into Developing Asia (July 2013). Asian Development Bank Economics Working Paper Series No. 354

[2] ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คำนวณโดยผู้เขียน

[3] ข้อมูลจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก คำนวณโดยผู้เขียน

ผู้เขียน

 

อนรรถ อัสโสรัตน์กุล
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย