​เราไปได้ไกลกว่านี้ไหม มุมมองจากข้อมูลแรงงานและการจ้างงาน

ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ : มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ดร.นฎา วะสี : สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
นายชินวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.พรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ : ธนาคารแห่งประเทศไทย
นางสาวชมนาถ นิตตะโย : ธนาคารแห่งประเทศไทย


กำลังแรงงานไทยถือเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทุนมนุษย์ถือเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนประเทศให้แข่งขันได้ในเวทีโลกได้ บทความนี้จะนำเสนอภาพการทำงานของแรงงานชายและหญิงไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยบทความนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกนำเสนอภาพการทำงานของแรงงานไทยในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อดูความสัมพันธ์ของการศึกษา ค่าจ้าง อาชีพ และช่วงชีวิตในการทำงานของแรงงานทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือ แรงงานไทยมีระดับการศึกษาสูงขึ้นมาก ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยมีนโยบายการปฏิรูปการศึกษามาอย่างต่อเนื่องและใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อลงทุนยกระดับการศึกษาของคนไทย การให้โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศต่างตระหนักว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า การศึกษานั้นส่งผลดีทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ คนที่มีการศึกษาสูงกว่า ส่วนใหญ่จะมีสุขภาพดีกว่า มีรายได้สูงกว่า มีเงินออมมากกว่า และสำหรับในต่างประเทศ คนที่จบมหาวิทยาลัยก็มีแนวโน้มที่จะมีช่วงชีวิตการทำงานที่ยาวกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูงนัก

ในกรณีประเทศไทยนั้น ผลเบื้องต้นพบว่า เมื่อ 30 ปีก่อน แรงงานที่จบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น มักได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าแรงงานที่จบการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าอย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบัน ความแตกต่างของระดับค่าจ้างเฉลี่ยกลับไม่ชัดเจนนักโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่านั้น นอกจากนี้ ค่าจ้างสำหรับแรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็มีการกระจายตัวมากขึ้น อีกมิติหนึ่งของแรงงานที่บทความนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ เรื่องอาชีพ เมื่อเปรียบเทียบแรงงานในปัจจุบันกับในอดีตที่มีระดับการศึกษาเท่ากัน แรงงานในอดีตมักจะประกอบอาชีพที่ถูกจัดว่าใช้ทักษะที่สูงกว่า ก่อให้เกิดประเด็นคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดเราจึงเห็นภาพเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีการปรับเปลี่ยนจากภาคเกษตรเป็นภาคอุตสาหกรรม การค้า การบริการที่มากขึ้น หรือการเข้ามาแย่งชิงงานของเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ มีบทบาทเพียงไร หรือภาพดังกล่าวสะท้อนว่าจำนวนปีที่คนลงทุนไปในการศึกษานั้นยังไม่ได้ช่วยให้ได้รับทักษะที่เพิ่มขึ้นนัก หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า แท้จริงแล้ว งานทุก ๆ อาชีพในปัจจุบันต้องการคนที่มีทักษะที่สูงขึ้น เช่น แรงงานที่ประกอบอาชีพเสมียนในปัจจุบันต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น ขณะที่สมัยก่อนต้องการทักษะเพียงแค่พิมพ์ดีดได้เท่านั้น

นอกจากนั้น ยังเป็นที่น่าแปลกใจว่า แรงงานไทยที่มีการศึกษาสูง กลับมีช่วงชีวิตการทำงานที่สั้นกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาต่ำ ภาพนี้ไม่น่าจะดีต่อประเทศเรานัก หากเราคิดว่า แรงงานที่การศึกษาสูงน่าจะเป็นคนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของประเทศ แต่คนกลุ่มนี้ออกจากงานในช่วงอายุ 60เป็นจำนวนมากและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต ทั้งๆ ที่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้คนมีสุขภาพดีขึ้น เทคโนโลยีช่วยให้งานต่าง ๆ ใช้กำลังกายน้อยลง และอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยก็เพิ่มขึ้นจาก ประมาณ 66.5 ปี เป็น 75 ปี คำอธิบายส่วนหนึ่ง ก็คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรซึ่งมักจะเป็นงานนอกระบบ ปัจจุบันแรงงานเข้ามาเป็นลูกจ้างภาคเอกชนและภาครัฐเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูง และงานในระบบของประเทศไทยไม่ได้เอื้อให้แรงงานที่อายุเกิน 60 ทำงานต่อไปได้มากนัก

เนื่องจากการจ้างงานในภาคเอกชนได้เพิ่มความสำคัญของตลาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจ บทความส่วนที่สองจึงได้นำเสนอภาพพลวัตรของตลาดแรงงานไทย โดยใช้ข้อมูลการจ้างงานในระบบซึ่งได้รับความอนุเคราะห์มาจากสำนักงานประกันสังคม โดยลักษณะเด่นของข้อมูลชุดนี้มี 2ข้อ ข้อแรก คือ ข้อมูลนี้ไม่ใช่การสำรวจแต่ครอบคลุมลูกจ้างและนายจ้างนิติบุคคลในระบบทั้งหมด ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 - 2561 จำนวนลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับได้เพิ่มจาก 6 ล้านกว่า เป็นกว่า 11 ล้านคน และจำนวนนายจ้างได้เพิ่มจาก 2 แสนกว่าราย เป็น 4 แสนกว่าราย ข้อสอง ข้อมูลนี้ทำให้เราสามารถติดตามภาพการทำงานของแรงงานคนเดิม หรือภาพการจ้างงานของบริษัทเดิม เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี รวมทั้งสามารถศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

ผลจากการติดตามลูกจ้างคนเดิมกว่า 5ล้านคนในช่วงเวลา 96 เดือนเพื่อศึกษาลักษณะการทำงานของว่ามีรูปแบบอย่างไร พบว่า ลูกจ้างซึ่งเรานับว่าทำงานในระบบนั้น แท้จริงมีรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย บางกลุ่มไม่มีการเปลี่ยนงานหรือว่างงานเลย บางกลุ่มเข้า ๆ ออก ๆ จากประกันสังคมเป็นฤดูกาล และบางกลุ่มก็เข้ามาอยู่ในระบบเพียงไม่นาน ทั้งนี้รูปแบบของการทำงานก็มีความสัมพันธ์กับค่าจ้าง การเติบโตของค่าจ้าง อายุของแรงงาน และข้อบังคับของ พ.ร.บ.ประกันสังคม สำหรับฝั่งนายจ้างนั้น พบว่า บริษัทขนาดใหญ่มาก มีแนวโน้มจะใหญ่ขึ้น ส่วนบริษัทเล็กที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 5 คน แม้แต่ละปีจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก แต่อัตราการอยู่รอดในช่วง 3 ปี คิดเป็นเพียงร้อยละ 60

ผลการศึกษาเหล่านี้สะท้อนภาพรวมของแรงงานและพฤติกรรมของแรงงานในตลาดแรงงานไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ก่อให้เกิดคำถามว่า ประเทศไทยได้ใช้กำลังแรงงานที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังเต็มศักยภาพแล้วหรือยัง เราสามารถไปได้ไกลกว่านี้ไหม?

คณะผู้เขียนขอเชิญชวนเข้ารับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยฉบับเต็มเรื่อง “เราไปได้ไกลกว่านี้ไหม มุมมองจากข้อมูลแรงงานและการจ้างงาน” ได้ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน” ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 1 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรม Centara Grand at Central World (รายละเอียดที่ www.bot.or.th/BOTSymposium2019) บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย