​รถไฟจีน-ลาว โอกาสและความท้าทาย ที่ไทยต้องเตรียมพร้อม

​นางสิรีธร จารุธัญลักษณ์
นางสาวอภิชญา จึงตระกูล
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวผักผลไม้จากจีนตอนใต้ผ่านลาวเข้ามาตีตลาดไทยผ่านด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประเด็นดังกล่าวทำให้ชวนคิดต่อว่า รถไฟจีน-ลาว[1] จะสามารถลำเลียงทั้งสินค้าและคนจากจีนตอนใต้ผ่านลาวมาถึงไทยได้อีกเส้นทางหนึ่ง โดยทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาที่เมืองบ่อเต็น สปป. ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดหนองคายเพียงแค่ 24 กิโลเมตร ทั้งนี้ หากไทยเตรียมพร้อมรับมือให้ดี รถไฟจีน-ลาวนี้จะเป็น ทั้งโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน


ลดต้นทุน ลดเวลา

รถไฟจีน-ลาวจะช่วยส่งเสริมทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ทั้งค่าโดยสารและระยะเวลาจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาถึงจังหวัดหนองคายใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง เร็วกว่าทางถนนจากนครคุนหมิง ถึงจังหวัดเชียงรายที่ใช้เวลาถึง 2 วัน และจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คำนวณโดย ธปท. พบว่าจะมีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนมากขึ้น คนจีนจะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยและลาวเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าจีนจะมาแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดลาวมากขึ้นด้วย

หากไทยมีการเตรียมพร้อมในการรับมือ เราจะเห็นโอกาสสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การค้า (2) การบริการและการท่องเที่ยว และ (3) การลงทุนในต่างประเทศ

ในด้านการค้า ไทยจะส่งออกสินค้าไปลาวและจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงผลไม้สดและแปรรูป เพราะสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง และจีนมีกำลังซื้อมหาศาล เฉพาะมณฑลยูนนานมีจำนวนประชากรราว 50 ล้านคน เกือบเท่ากับคนไทยทั้งประเทศ หากเรามีการศึกษาตลาดไลฟ์สไตล์ และความนิยมให้ดี ก็จะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากทั้งคนจีนและคนลาวมีพฤติกรรมที่นิยมสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วขณะเดียวกัน สินค้าจากจีนที่จะเข้ามาปริมาณมากขึ้น จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถใช้สินค้าจากจีนที่มีต้นทุนต่ำมาผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีก โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญจากมณฑลยูนนาน ได้แก่ ผัก ผลไม้ ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ รวมถึงสินค้าไอทีต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมบางประเภท


ท่องเที่ยวเติบโตด้วยรถไฟ

ในด้านการบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาวจะมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ 3 กลุ่มใหญ่ของไทย ได้แก่ (1) กลุ่มบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล นวดแผนไทย หรือสถานเสริมความงาม เพราะความเชื่อมั่นในคุณภาพ และมาตรฐานสาธารณสุขของไทย รวมทั้งการเดินทางและการผ่านแดนที่สะดวก (2) กลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และโรงแรม เนื่องจากราคาสินค้าและบริการถูก อีกทั้งอาหารและเครื่องดื่มของไทยยังเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนและลาว จากข้อมูลสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ของคนจีนและคนลาวในไทยมีอัตราการใช้จ่ายด้านช้อปปิ้ง และอาหารเครื่องดื่มในช่วงปี 2556-2560 เติบโตเฉลี่ยปีละ 35% และ 29% ตามลำดับ และ (3) กลุ่มสถานศึกษาและโรงเรียนสอนภาษา ทั้งภาคกลางและภาคอีสานซึ่งมีศักยภาพรองรับนักศึกษาจีนได้มากขึ้น และยังมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มาจากมณฑลยูนนานและกวางสีซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแนวรถไฟ เนื่องจากสถานศึกษาในจีนมีไม่เพียงพอ และค่าเรียนในไทยไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ขณะเดียวกัน คาดว่านักท่องเที่ยวไทยจะไปเที่ยวลาวและจีนได้สะดวกมากขึ้น เพราะเดินทางด้วยรถไฟจะเร็วกว่าการนั่งรถโดยสาร และราคาถูกกว่าขึ้นเครื่องบิน เส้นทางที่รถไฟสายนี้ผ่านก็เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของลาวทั้งวังเวียงและหลวงพระบาง จุดหมายปลายทางยังเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองอื่น ๆ ในจีนได้อีกด้วย

สำหรับด้านการลงทุนในต่างประเทศ คาดว่าธุรกิจไทยจะสามารถออกไปลงทุนและขยายธุรกิจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ใน สปป. ลาว เพื่อขยายฐานการค้าในลาวและส่งออกไปยังจีนตอนใต้ เช่น สินค้าสุขภาพ สินค้าออร์แกนิก สินค้าเกษตรแปรรูป รวมไปถึงภาคบริการที่ไทยมีความชำนาญอยู่แล้ว เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริหารจัดการโรงแรม เนื่องจากพื้นที่แขวงทางตอนเหนือของลาวที่ติดจีนมีศักยภาพ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวตั้งอยู่ ปัจจุบันจึงมีทั้งทุนจีนและทุนไทยขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนบ้างแล้ว


SMEs ต้องพร้อมแข่งขัน

ดังนั้น เพื่อสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายจากโครงการรถไฟจีน-ลาว ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องทำธุรกิจแข่งกับจีนจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ เน้นจุดขายที่การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของตนทั้งในด้านทักษะและการสื่อสาร ขณะที่ภาครัฐควรช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและคนท้องถิ่นได้รับโอกาสจากโครงการนี้ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค เทคโนโลยีสื่อสารที่ล้ำหน้า ระบบการชำระเงิน กฎระเบียบที่เอื้อต่อการค้า และการเสริมสร้างทักษะให้กับคนในพื้นที่ อาทิ ส่งเสริมระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดในภูมิภาคให้มากขึ้น เพราะคนจีนค้าขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ด้านภาษาจีน ดูแลสถานที่ท่องเที่ยว สถานบริการต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงลดขั้นตอนกระบวนการทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจและขนส่งสินค้า เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมรับกับโอกาสที่เข้ามาอย่างรวดเร็วนี้

-----------------------------------------
[1] รถไฟจีน-ลาว เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายคุน หมิง-สิงคโปร์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนที่จะเปิดบริการภายในปี 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย