นางปัณฑา อภัยทาน
เมื่อปลายปี 2556 World Economic Forum เปิดเผยรายงานการจัดอันความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยประเทศไทยถูกลดอันดับลง จากที่ 28 ในช่วงก่อนวิกฤติการเงิน (ปี 2550) มาอยู่ที่อันดับ 37 ในปัจจุบัน (ปี 2557) ซึ่งหนึ่งในเหตุผลหลักก็คือ ข้อจำกัดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังนั้น เมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคม 2556 รัฐบาลจึงเสนอแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยอาศัยแหล่งเงินจากการกู้เงินนอกงบประมาณ หรือที่ถูกขนานนามตามมูลค่าขนาดใหญ่ของเงินลงทุนว่า “พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท” และในคืนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาออกมาได้สำเร็จ จนกระทั่ง 12 มีนาคม 2557 สถานการณ์ก็กลับพลิกผันเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐยังคงมีบทบาทสำคัญสำหรับการลงทุนของประเทศ ซึ่งนอกจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังนับเป็นสินค้าสาธารณะหรือเป็นสิ่งที่ประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย แต่ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาพบว่า การลงทุนของภาครัฐทยอยลดบทบาทลงมาโดยลำดับ การลงทุนที่ใช้แหล่งเงินจัดสรรจากงบประมาณประจำปี ในปัจจุบันลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 20 ของงบประมาณ จากร้อยละ 30 เทียบกับเมื่อทศวรรษก่อน และแม้ว่าจะรวมกับการลงทุนแนวใหม่ของรัฐบาล ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ที่หันมาใช้แหล่งเงินจากเงินกู้นอกงบประมาณ การลงทุนในภาพรวมของรัฐบาลก็ยังค่อนข้างน้อยอยู่ดี โดยการลงทุนทั้งหมดของภาครัฐร้อยละ 5 ของ GDP คิดเป็นการลงทุนจากรัฐบาลไม่ถึงครึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจ
มาถึงตอนนี้ แม้ว่าร่าง พ.ร.บ. ลงทุน 2 ล้านล้านบาท จะเป็นอันต้องล้มพับไปตามคำวินิจฉัยของศาล แต่นั่นหมายถึงรัฐบาลเพียงแค่ไม่สามารถใช้แหล่งเงินกู้นอกงบประมาณมาลงทุนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่สามารถลงทุนในโครงการนี้ต่อไปได้ ซึ่งที่ต้องทำก็คือเลือกโครงการที่มีความพร้อมมาทำก่อน โดยไม่ปล่อยให้การลงทุนของประเทศต้องสะดุดลง อย่างไรก็ตาม คงต้องคำนึงให้เหมาะสมกับประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ และความพร้อมด้านแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ทดแทนด้วย
สำหรับปีงบประมาณ 2557 โครงการที่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องยังสามารถทำต่อไปได้ เนื่องจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ประเมินล่วงหน้าถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จากการที่ พ.ร.บ. ลงทุน 2 ล้านล้านบาท ไม่สามารถประกาศใช้ได้ตามเป้าหมายเดิมของรัฐบาล จึงได้บรรจุโครงการที่อยู่ระหว่างการลงทุนก่อสร้างเป็นมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ไว้ในแผนการก่อหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 โครงการเหล่านี้ได้แก่ การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง - บางแค และ ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ) และรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ)
ขณะที่นับจากปีงบประมาณ 2558 และต่อเนื่องในปีต่อๆไป นอกจากรัฐบาลจะต้องทยอยลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สายนี้ต่อไปจนกระทั่งแล้วเสร็จ ยังมีโครงการที่มีการเตรียมความพร้อมด้านการลงทุนไว้แล้วอีกจำนวนหนึ่งซึ่งคาดว่าจะต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต) ที่กำลังรอการประมูลและการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างจากรัฐบาลเพื่อทำการลงทุน รวมไปถึงโครงการย่อยๆ เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงและปรับปรุงคมนาคมระบบราง ทางหลวง และทางหลวงชนบท ซึ่งไม่ได้เป็นโครงการที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่ก็จำเป็นต้องได้รับเงินลงทุนเนื่องจากจำเป็นต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ
ในอนาคต เรายังคงอยากเห็นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องอาศัยความสามารถในการบริหารแหล่งเงินทุนให้เหมาะสม เมื่อเทียบกับเป้าหมายเดิมของรัฐบาลที่คาดว่าโครงการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ในระยะ 7 ปี (2557 - 2563) เราเชื่อว่าภาครัฐจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ แต่ในระยะ 7 ปี รัฐคงจะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนเองได้ไม่ทั้งหมด เนื่องจากข้อจำกัดทั้งด้านประสิทธิภาพของหน่วยงานและด้านแหล่งเงินลงทุน โดยรัฐอาจจะอาศัยแหล่งเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ (ภายใต้กฏหมายบริหารหนี้สาธารณะ) ร่วมกับการจัดสรรเงินงบประมาณ ส่วนโครงการที่เหลือที่กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเมืองเพื่อรองรับการกระจายตัวของเมืองที่จะต้องขยายวงกว้างออกไป โครงการทางหลวงพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งระหว่างเมืองและโครงการท่าเรือและท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ ล้วนเป็นโครงการที่ควรต้องสนับสนุนให้มีการลงทุนต่อไป ซึ่งการเปิดโอกาสให้มีการร่วมทุนจากภาคเอกชนก็เป็นแหล่งทุนทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระจากการใช้เงินงบประมาณและบรรเทาข้อจำกัดด้านเงินกู้ภาครัฐแล้ว ยังช่วยสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการลงทุนได้อีกด้วย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย