​20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจ (2): ก้าวข้ามความท้าทายสู่การพัฒนา By All For All

​ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
นายนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์
สายนโยบายการเงิน

“ทางออกของอนาคตประเทศไทย คือการมีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มผลิตภาพด้วยนวัตกรรมและกระจาย ทั่วถึงพัฒนาคนและพัฒนางานด้วยนวัตกรรม และการปฏิรูปโครงสร้างเชิงสถาบันทั้งการปฏิรูปกฎหมาย และข้อบังคับ”

บทความตอนที่แล้ว เราพูดถึงประเทศไทยได้ ก้าวเดินฟันฝ่าอุปสรรคและปรับตัวจากเหตุการณ์ วิกฤตปี 40 ในวันนั้นจวบจนถึงวันนี้ เศรษฐกิจไทยผ่านบททดสอบหนักๆ มาได้หลายครั้ง สามารถรักษา เสถียรภาพเศรษฐกิจให้อยู่ในเกณฑ์ดีและคาดว่า โอกาสที่จะเกิดวิกฤตแบบเดิมๆ คงมีค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้ามีรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิมจาก “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ทั้งการลดลงของศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาความเหลื่อมล้าในสังคมไทย รวมทั้งสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) บทความตอนนี้จะนำเสนอทางออกของอนาคต ประเทศไทยว่าควรก้าวข้ามความท้าทายสู่การพัฒนา ในอนาคตอย่างไร




1. เรื่องเก่าเล่าใหม่: ปัญหาคอขวดทั้งปัจจัย ทุน คน และเทคโนโลยี

หากวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยจากทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจคลาสสิกว่าเหตุใด
ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจึงลดลง คำตอบคงหนีไม่พ้นจากการเจาะลึกถึงศักยภาพของปัจจัยการผลิตหลัก คือ “คน” “ทุน” และ “เทคโนโลยี” ปัญหาคอขวดด้าน “คน” ทางด้านปริมาณ เราทราบดีว่าไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย แรงงานกลุ่ม Baby Boom ที่สะสมความรู้ ทักษะและประสบการณ์ยาวนานจะทยอยเกษียณอายุออกจากตลาดแรงงานเป็นคลื่นลูกใหญ่ ขณะที่จำนวนกำลังแรงงานที่มีอายุ 15-60 ปีได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วและค่อยๆ ลดจำนวนลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากถึง 3 ล้านคน เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยกำลังแรงงานไทยจำเป็นต้องมีผลิตภาพสูงขึ้น ทำงานให้เก่งขึ้นเพื่อมีรายได้เพียงพอที่จะดูแลผู้ที่อยู่ในวัยพึ่งพิง แต่ภาพความจริงในปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานทั้งหมดทำงานที่ใช้ “ทักษะพื้นฐาน” และมีการศึกษาระดับประถมหรือต่ำกว่า ทางด้านคุณภาพ ผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA Test ปี 2558 พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 54 จาก 72 ประเทศ เด็กไทยน่าเป็นห่วงทำคะแนนได้น้อยลงทุกวิชา สะท้อนถึงคุณภาพแรงงานในอนาคตของไทยภายใต้โลกการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงานมีความเสี่ยงจากการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น หรือการเติบโตของ “Gig Economy” ที่มีผู้ทำงานอิสระมากขึ้น

ปัญหาคอขวดด้าน “ทุน” ไทยว่างเว้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่มานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เริ่มปี 2525 เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งได้เคยทำสำเร็จมาแล้ว และเป็นที่น่ายินดีที่ภาครัฐได้เร่งรัดผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการรถไฟและโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และหวังว่าจะเป็นหัวหอก และจูงใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาสร้างโรงงานในเขตดังกล่าว เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต และหวังว่าจะทำให้ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่เคยติดลบติดต่อกัน 3 ปีในปี 2556-2558 กลับมาโตต่อเนื่องอีกครั้ง ซึ่งการลงทุนที่ซบเซานี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและเทคโนโลยีท้าให้อุปสงค์การบริโภคสินค้าต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป

งานศึกษาปี 2555 พบว่าสังคมที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากขึ้นจะมีความต้องการนำเข้าบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเชื่อมโยงไปยังปริมาณการส่งออกที่ลดลง รวมถึงเทรนด์การบริโภคกระจุกตัวในภาคบริการมากขึ้น เช่น การใช้อินเทอร์เน็ต การใช้จ่ายทางออนไลน์ทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป เราเห็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น การสร้างโรงงาน การเปิดสาขาลดลง ขณะที่การลงทุนในเทคโนโลยีและสินทรัพย์ทางปัญญาเพิ่มสูงขึ้นสะท้อนว่ารูปแบบการลงทุนของธุรกิจในทศวรรษหน้าจะไม่เหมือนในช่วงห้าสิบปีก่อน

ปัญหาคอขวดด้าน “เทคโนโลยี” ซึ่งปัจจัยนี้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้าง “นวัตกรรม” และ “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้าและบริการ ไทยลงทุนด้าน R&D เพียง 0.6% ของ GDP ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศผู้นำด้านนวัตกรรม เช่น เกาหลีใต้ที่ลงทุนด้าน R&D สูงถึง 4.3% ของ GDP ส่วนหนึ่งเพราะไทยพึ่งพิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยการซื้อจากต่างประเทศที่วัดจากการขาดดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีมากกว่าการคิดค้นขึ้นเอง และ R&D ส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ในบริษัทต่างชาติ


2. ความเสี่ยงจากเทคโนโลยีและปัญหา ความเหลื่อมล้ำ

เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและกระแสการนำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคนส่งผลกระทบต่อโลกการทำงานในอนาคตข้างหน้าและสั่นคลอนระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่ “ทุน” กับ “แรงงาน” ทำงานพึ่งพากัน มีความเสี่ยงในอาชีพการงานที่อาจตกยุคได้ง่าย เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงและปลดแรงงานทักษะต่ำ รวมถึงเกิดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสการศึกษา ส่วนธุรกิจแบบเดิมและ SMEs ที่ปรับตัวไม่ทันก็ต้องปิดตัวไป นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางเป็นเวลานาน ผนวกรวมกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มีลักษณะภาวะ “รวยกระจุกจนกระจาย” ที่คนรวยที่สุดของประเทศ 10% แรกมีรายได้มากกว่าคนจนที่สุด 10% สุดท้ายอยู่ถึง 22 เท่าคนรวย หากภาวะเช่นนี้สะสมนานวันขึ้น เราอาจเหมือนกำลังอยู่ใน “วิกฤตกบต้ม” (Boiling Frog Theory) ที่หากไม่รีบกระโดดออกจากหม้อน้ำที่กำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจสายเกินการณ์ได้ โดยต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลง และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงในเวลาและรูปแบบที่เหมาะสม


3. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มผลิตภาพด้วยนวัตกรรม และกระจายทั่วถึง

ทางออกของการเพิ่มผลิตภาพหลายท่านเน้นไปที่ “การลงทุน” แต่การลงทุนในธุรกิจแบบเดิมๆ (More of the same) เราคงไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ๆ ได้ บทความนี้ขอเสนอทางออก 3 ด้านหลักคือ

3.1 เพิ่มผลิตภาพในแหล่งงานสำคัญทั้งภาคบริการและภาคเกษตรที่มีแรงงานอยู่ถึงกว่าร้อยละ 80 จากรูปโครงสร้างการผลิตจะเห็นว่าภาคเกษตรกรรมที่เป็นแหล่งงานของแรงงาน 12 ล้านคน มีสัดส่วนเพียง 8% ใน GDP และภาคบริการมีคนทำงาน 19 ล้านคน มีสัดส่วน 59% ของ GDP โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเติบโตดีมาก (27% ของ GDP) ตามจำานวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวสูงถึง 32.6 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคบริการอื่นๆ เช่น การรักษาพยาบาล การธนาคาร บริการทางธุรกิจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามระดับการพัฒนาประเทศและทิศทางของโลกที่ภาคบริการมีบทบาทสูงขึ้น

ในด้านภาคบริการ ไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวอยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ อาหารและวัฒนธรรม รวมทั้งอัธยาศัยไมตรีของคนไทย ควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น สร้างสมดุลระหว่างประโยชน์รายได้กับต้นทุนทางเศรษฐกิจ และรัฐควรสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีแก่ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว (Tourism Supply Chain) ได้แก่ ที่พัก การขนส่ง การให้บริการนำเที่ยวและกิจกรรม และอาหารและงานฝีมือ ให้ทัดเทียมกับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในอันดับต้นๆ เช่น สเปน และฝรั่งเศส และกระจายประโยชน์ไปสู่ผู้คนที่ทำงานในภาคนี้อย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) ในด้านภาคเกษตร รัฐบาลได้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยบรรจุใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อาหารแปรรูป และเชื้อเพลิงชีวภาพ หากทำได้จริง คาดหวังว่าภาคเกษตรจะเปลี่ยนจากแบบดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ เน้นบริหารจัดการและเทคโนโลยี มีเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ และเป็นเกษตรกรที่มีฐานะดีขึ้นอย่างทั่วถึง

3.2 การพัฒนาคนและพัฒนางานด้วยนวัตกรรม

การสร้างแรงงานแห่งอนาคตรุ่นใหม่ : ระบบการศึกษาสร้างคนที่มีศักยภาพและบุคลิกภาพที่เข้มแข็งสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ (Working Smarter) โดยใช้แนวการเรียนแบบ “STEM Education” ที่เน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ ไม่ใช่เรียนแค่ให้จบการศึกษาเท่านั้น แต่เพื่อเพิ่มทักษะพื้นฐานให้อยู่ได้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ ส่วนแรงงานปัจจุบันต้องพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง “เรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด” เพื่อก้าวทันกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต

การพัฒนากำลังแรงงานเดิม : ต้องทำงานด้วยความตั้งใจมีผลิตภาพสูง สามารถวิเคราะห์แก้ไขปัญหา เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีวินัยและคุณธรรม รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะที่บริษัทต้องการและทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น ส่วนแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นตลาดแรงงานที่มีอิสระ เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพเป็นเศรษฐกิจฐานราก และเป็นธุรกิจ Start-up ที่เข้มแข็ง ควรจัดตั้งศูนย์ One Stop Service ให้ความรู้เทคโนโลยี เงินทุน รวมถึงสร้างเครือข่ายสำหรับแรงงานที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งธุรกิจ SME เพื่อกระจายประโยชน์และโอกาสให้ทั่วถึง

ด้านการเชื่อมโยงและขยายผลนวัตกรรม: ควรส่งเสริมกลไกความร่วมมือการใช้ประโยชน์ขององค์ความรู้ และเชื่อมต่องานวิจัยในสถาบันการศึกษาสู่งานเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกระจายประโยชน์ไปในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

3.3 การปฏิรูปโครงสร้างเชิงสถาบัน ทั้งการปฏิรูปกฎหมายและข้อบังคับที่มีอยู่จำนวนมากให้คล่องตัวและทันสมัย ธุรกิจและประชาชนสามารถทำงานได้สะดวกขึ้น การปฏิรูประบบภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมแก่ธุรกิจ และช่วยกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันต้องมีกฎระเบียบใหม่ๆ ที่จำเป็นเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต เช่น การสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) การป้องกันไม่ให้หนี้ครัวเรือนสูงเกินไป การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การสร้างธรรมาภิบาลและป้องกันคอร์รัปชั่น เป็นต้น ซึ่งอาจมีผลกระทบในระยะสั้นแต่จะก่อให้เกิดผลดีในระยะยาว “Short-term Pain, Long-term Gain”

ท้ายสุด หากทุกคนเปลี่ยนทัศนคติมองโลกใหม่ เปิดใจรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ เดินไปในทิศทางเดียวกันเช่นนี้ เชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคงและเกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนได้ By All For All อย่างแท้จริง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย