นางสาวฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ครั้งที่แล้วได้คุยถึง "เงินดิจิทัล (digital money)" ในประเทศไทย เช่น เงินใน e-wallet บัตร 7-11 บัตรรถไฟฟ้า ไว้ว่าคนไทยเปิดรับทำให้เติบโตเร็วมาก วันนี้จึงอยากถือโอกาสชวนผู้อ่านคุยเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวกับ "สกุลเงินดิจิทัล (digital currencies)" ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวแค่ไหน


สกุลเงินดิจิทัล vs เงินดิจิทัล?

ทั้งสองอย่างเหมือนกันตรงคำว่า "ดิจิทัล" ที่จับต้องไม่ได้ แต่มีตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ความต่างคือ "เงินดิจิทัล" มีเงินสกุลท้องถิ่นหนุนหลัง เช่น ต้องนำเงินบาทมาชำระผู้ให้บริการ e-money ก่อนใช้ชำระค่าสินค้า จึงมีหน่วยเป็นเงินสกุลท้องถิ่นและมีมูลค่าแน่นอน

"สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency)" เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นสกุลเงินใหม่ที่สร้างขึ้นจากกลไกคณิตศาสตร์ที่กำหนดจำนวนไว้จำกัด ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ถอดรหัสเพื่อนำเงินออกจากกลไก สกุลเงินใหม่นี้สร้างขึ้นเพื่อลดการรวมศูนย์ของระบบการชำระเงินผ่านสถาบันการเงินให้สามารถกระจายไปยังผู้ใช้ในเครือข่ายสกุลเงินนั้นๆ ได้ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ติดตามการเคลื่อนไหวของเงินแม้จะไม่มีตัวกลางและสามารถป้องกันการปลอมแปลงได้ด้วย การชำระ/โอนเงินจึงอยู่แค่ภายในเครือข่าย ซึ่งมีข้อดีที่รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ และปลอดภัย แต่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังไม่รับรองว่าบรรดาคริปโทเคอร์เรนซีที่เอกชนสร้างขึ้นมา สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย คริปโทเคอร์เรนซีจึงทำหน้าที่ของเงินได้ไม่ครบ เพราะยังไม่เป็นสื่อกลางในการชำระเงินและไม่ถูกใช้เป็นหน่วยกำหนดราคาสิ่งของแถมมูลค่ายังผันผวนมาก แต่ถ้าเป็น "สกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางออกใช้ (central bank digital currency: CBDC)" จะมีคุณสมบัติของเงินที่ครบถ้วนเพราะมีมูลค่าแน่นอนใช้แทนสกุลเงินท้องถิ่นได้ตามกฎหมาย


ทำไมสกุลเงินดิจิทัลจึงเริ่มเป็นที่สนใจ?

ความนิยมใช้คริปโทเคอร์เรนซีอาจเห็นได้ชัดในประเทศที่คนไม่ค่อยเชื่อถือในเงินสกุลท้องถิ่นและไม่มั่นใจในเสถียรภาพระบบการเงินในประเทศ เช่น ประเทศเวเนซุเอลาที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจ เผชิญกับเงินเฟ้อสูงมากเกือบ 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ในปี 2561 ทำให้เงินโบลีเวีย (Bolevar) ซึ่งเป็นสกุลเงินท้องถิ่นแทบไม่มีค่า คนจึงหนีภาวะเงินเฟ้อในสกุลเงินโบลีเวียและขาดความเชื่อมั่นในการบริหารของรัฐไปถือคริปโทเคอร์เรนซี แม้รัฐบาลจะออกสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติชื่อ "Petro coin" ที่หนุนหลังด้วยมูลค่าบ่อน้ำมันของรัฐ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จที่จะดึงให้คนกลับมาเชื่อถือในเงินของรัฐได้

สำหรับเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) โดยทั่วไปจะออกเพื่อ 3 วัตถุประสงค์[1] คือ (1) ไม่ให้เกิดการผูกขาดและลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงินจากการพึ่งพาบริการทางการเงินภาคเอกชนมากไป ซึ่งมักเกิดกับประเทศที่คนไม่ค่อยใช้เงินสดแล้ว เช่น สวีเดนที่มีแผนจะออกสกุลเงิน e-krona (2) ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชำระเงิน (3) เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน ทั้งนี้แต่ละธนาคารกลางอาจกำหนดรูปแบบของ CBDC ต่างกัน โดยเฉพาะการให้ดอกเบี้ยบัญชีเงินฝาก CBDC ที่ธนาคารกลาง (interest-bearing) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงเศรษฐกิจขาลง โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ติดลบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางไม่สามารถทำได้ในสังคมใช้เงินสด เพราะคนสามารถเปลี่ยนไปถือเงินสดแทนการเก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากแล้วถูกเก็บดอกเบี้ย นอกจากนี้ รายงานสำรวจพบว่า ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลกติดตามการใช้คริปโทเคอร์เรนซีของคนในประเทศอย่างใกล้ชิดและมีการศึกษา CBDC[2] เตรียมไว้เผื่อต้องออกใช้ แม้มีส่วนน้อยที่มีแผนจะออกใช้จริง โดยให้เหตุผลด้านความมั่นคงและการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินเป็นอันดับแรก และมองเหตุผลด้านนโยบายการเงินเป็นเรื่องรอง


การใช้สกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทย

ปัจจุบันการใช้คริปโทเคอเรนซีในไทยเพื่อธุรกรรมชำระเงินยังมีจำกัด และเริ่มมีคนไทยที่ผลิตคริปโทสัญชาติไทยได้ เช่น Zcoin ส่วนนักลงทุนไทยเริ่มรู้จักคริปโทที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กำกับดูแลการขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการซื้อขายคริปโทในไทย และเตือนผู้สนใจลงทุนในคริปโทว่ามีความเสี่ยงสูง ต้องมีความรู้และรับความเสี่ยงที่อาจสูญเงินลงทุนได้

นอกจากนี้ ธปท. ได้เปิดตัวโครงการอินทนนท์ที่เป็นการทดสอบระบบการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินโดยใช้ CBDC จำลอง (wholesale CBDC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน และเพิ่งรายงานผลการทดสอบระยะที่ 1 ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งในการโอนเงินระหว่างกันและการบริหารสภาพคล่องในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 - มกราคมปีนี้ พบว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชำระเงินของไทย แต่การจะนำระบบนี้มาใช้งานจริงต้องใช้เวลาทดสอบขีดความสามารถและศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม พร้อมประกาศเตรียมทดสอบระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้

ถึงตอนนี้คงพอบอกได้ว่าสกุลเงินดิจิทัลเริ่มใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มองว่าเป็นทางเลือกในการลงทุนและกล้ารับความเสี่ยง ส่วน ธปท. เริ่มเห็นประโยชน์จาก wholesale CBDC ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน แต่การออก CBDC ให้ประชาชนใช้อาจยังดูไกลตัว ตราบใดที่การใช้คริปโทยังไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมถึงคนไทยยังมั่นใจในการใช้สกุลเงินบาท และความมั่นคงในระบบการชำระเงินของประเทศอยู่

--------------------------------------------------------------


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

[1] Casting Light on Central Bank Digital Currency. 2018. International Monetary Fund

[2] Proceeding with caution - a survey on central bank digital currency. 2019. Bank of International Settlement

>>