​ความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา

​นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน

ที่ผ่านมาประเด็นที่ทั่วโลกจับตานอกจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น
อีกความขัดแย้งหนึ่งคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนมากขึ้น บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้ จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมาทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว
ขออธิบายก่อนว่าปัจจัยหลักที่กำหนดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สามารถแบ่งเป็น (1) ปัจจัยต่ออุปสงค์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงจากผลของสงครามทางการค้า (2) ปัจจัยต่ออุปทาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มักจะมีปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อและนำมาสู่ความรุนแรงจนทำให้อุปทานน้ำมันตึงตัวได้ และ (3) การที่น้ำมันกลายมาเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่นักลงทุนสามารถเข้ามาซื้อขายได้แม้จะไม่มีการส่งมอบน้ำมันดิบจริง ซึ่งโดยรวมทำให้สภาพคล่องในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ปรับดีขึ้น แต่ก็ทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งได้ส่งผลต่อราคาและความผันผวนของราคาน้ำมันโดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดเพิ่มขึ้นหลังสหรัฐฯ ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปประจำการยังอ่าวเปอร์เซีย เพื่อตอบโต้อิหร่านที่ขู่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นทางหลักที่ใช้ขนส่งน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียของประเทศต่าง ๆ (ปริมาณขนส่ง 17.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของการผลิตรวมของโลกต่อวัน) รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่อิหร่านยิงโดรนสหรัฐฯ ตก ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดการสู้รบกันในพื้นที่ที่มีการผลิตน้ำมันหรือขนส่งน้ำมันได้ นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมายังมีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับซาอุดีอาระเบียที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งเหตุเรือขนส่งน้ำมันและระบบท่อขนส่งน้ำมันโดนโจมตี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของการผลิตน้ำมันทั้งหมดของซาอุดีอาระเบียหรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของการผลิตรวมของโลก เหตุการณ์ต่าง ๆ ข้างต้นประกอบกับความกังวลจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนมากในช่วงไตรมาส 2โดยราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent เคลื่อนไหวในช่วงที่ค่อนข้างกว้างระหว่าง 51 - 66 และ 62 - 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ ขณะที่ราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ถึงปัจจุบันก็ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากราคาเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี

หากหันมามองผลกระทบต่อไทย พบว่าไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันในระดับสูง จากข้อมูลในปี 2561 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบ 8.2 แสนล้านบาทต่อปีหรือร้อยละ 63 ของการบริโภคน้ำมันดิบในประเทศ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมส่งผลต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของทุกภาคส่วน โดยภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันสำหรับรถยนต์ส่วนตัวหรือค่าขนส่งจากการใช้บริการสาธารณะ รวมถึงราคาก๊าซหุงต้มที่อาจปรับเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นด้วย ขณะที่ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าก็สูงขึ้นเช่นกัน หากดูเครื่องชี้ที่สะท้อนการพึ่งพาพลังงานต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (energy intensity)ข้อมูลล่าสุดในปี 2558 ของ World Bank พบว่า energy intensityของไทยอยู่ในระดับสูง (สูงเป็นอันดับที่ 3) เมื่อเทียบกับประเทศใน ASEAN แม้มีแนวโน้มลดลงบ้างในระยะหลังแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ไม่ดีนัก

นอกจากปัจจัยความขัดแย้งทางการค้าและปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ข้างต้น เหตุการณ์ที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือการประชุมระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และประเทศพันธมิตรในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมว่าจะมีการต่ออายุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตหรือไม่ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมันในระยะต่อไปเป็นแน่ค่ะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย