นายสุพริศร์ สุวรรณิกฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ได้สร้างความปั่นป่วนแก่สังคมโลกในหลายแง่มุม โดยเฉพาะผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ ประเด็นที่หลายคนมักพูดถึงและกลับถูกมองในด้านดี คือ โควิด-19 ได้ทำให้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนคลี่คลายลง สะท้อนจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมและอากาศที่ดีขึ้นจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผู้เขียนยังจำภาพถ่ายดาวเทียมขององค์กรนาซาในประเทศจีนได้ดี ซึ่งแสดงปริมาณมลภาวะที่ลดลงอย่างมากในช่วงเวลาเพียงแค่ 1 เดือน จากผลของมาตรการปิดเมืองและปิดโรงงานที่ทำให้มลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมลดลงไปโดยปริยาย ดังนั้น คำถามสำคัญที่ตามมาคือ โควิด-19 ทำให้สถานการณ์วิกฤตโลกร้อนดีขึ้นแล้วจริงหรือไม่? วันนี้จึงมาชวนท่านผู้อ่านคิดและตีแผ่ความจริงที่หลายท่านอาจไม่เคยได้ยิน ดังนี้ครับ
1. แม้คุณภาพอากาศจะดีขึ้นจริงในระยะสั้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก แต่โควิด-19 ไม่ได้ช่วยให้วิกฤตโลกร้อนดีขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาขยะของเสียและพลาสติกที่เพิ่มพูนขึ้น:
เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 63 ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ออกมาชี้แจงว่า โควิด-19 ไม่ควรถูกมองว่า “เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม” โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาซึ่งทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นและปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ล้วนเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่นี้ ส่งผลให้ปริมาณขยะทางการแพทย์และของเสียอันตราย รวมทั้งขยะพลาสติกที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ส่งถึงบ้าน โดยเฉพาะหีบห่อแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้นมากมาย หากมนุษย์ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิตและบริโภคให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น วิกฤตโลกร้อนก็จะยังคงอยู่และรุนแรงขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
2. การแก้ไขปัญหาโลกร้อนอาจถูกลดความสำคัญลงในช่วงระยะการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤต และจะยิ่งซ้ำเติมให้วิกฤตโลกร้อนรุนแรงขึ้นอีก:
เมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ของรัฐบาลในแต่ละประเทศ การตัดสินใจฟื้นฟูด้วยวิธีการใดขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของแต่ละประเทศ เพราะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวสามารถจะทำได้ควบคู่ไปกับการรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การลงทุนในพลังงานทดแทน การขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ นโยบายของบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ภายใต้การนำทิศทางของประธานาธิบดีทรัมป์ (และจะยังคงนำต่อหากได้รับเลือกตั้งกลับมาในปลายปีนี้) และได้ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว จะเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยทิศทางใด? ผู้เขียนคาดว่าทรัมป์จะเดินหน้าฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตอย่างเต็มกำลัง และจะเร่งผลิตโดยไม่ได้ให้ความใส่ใจกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซ้ำเติมด้วยรัฐบาลในหลายประเทศที่อาจให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดลดลงด้วย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับลดลงมากจากสงครามราคาน้ำมัน และมองไปข้างหน้า ราคาน้ำมันก็จะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกที่หดตัวทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่ประเทศต่าง ๆ จะหันไปใช้พลังงานสะอาดทดแทน ซึ่งมีราคาสูงกว่า
3. การเพิ่มขึ้นของปริมาณการสัญจรบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet traffic) และปริมาณของดิจิทัลดาต้า โดยเฉพาะในระบบคลาวด์ (Cloud) ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงการกักตัวที่บ้าน ได้เร่งให้วิกฤตโลกร้อนแย่ลงในระยะยาว โดยเฉพาะจากการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างท่วมท้น:
การใช้อินเทอร์เน็ตและดิจิทัลดาต้าอย่างไม่ระมัดระวัง เช่น การชมภาพยนตร์หรือซีรีย์จากสตรีมมิ่งวิดีโอเพื่อความบันเทิงตลอดทั้งวัน นำมาซึ่งการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ที่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้ามหาศาล และมักเป็นประเด็นที่หลายคนมองข้าม ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า เมื่อสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทุกคนควรตระหนักถึงเหรียญอีกด้านหนึ่งของอินเทอร์เน็ตและนวัตกรรมที่มาพร้อมกับมันด้วย... แน่นอนว่าการใช้อินเทอร์เน็ตและดิจิทัลดาต้าสร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลและจำเป็นต้องใช้ในการทำงาน แต่สิ่งที่ผู้เขียนชวนคิดคือ “ทุกครั้งที่ใช้ เราควรใช้ด้วยความตระหนักรู้ถึงประโยชน์และโทษภัยของมัน และพึงใช้อย่างพอดี เท่าที่จำเป็น”
โดยสรุปแล้ว หากเราไม่ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตั้งแต่วันนี้ โทษภัยของวิกฤตโลกร้อนจะมาหาเราทุกคนโดยไม่ทันตั้งตัวอย่างแน่นอน เฉกเช่นเดียวกับวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ที่มาแบบเงียบเชียบ ยืดเยื้อ รุนแรง และสร้างผลกระทบต่อพวกเราเป็นอย่างยิ่งครับ!
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>