​ภาวะเช่นไรจูงใจให้ธุรกิจลงทุน : จากมุมมองผู้ประกอบการ (1)

​นายณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล

การลงทุนภาคเอกชนถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่อดีต แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบทบาทดังกล่าวกลับลดลงอย่างมาก แม้ว่าประเทศไทยได้ผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ทั้งวิกฤตการเงินโลก วิกฤตมหาอุทกภัย และปัญหาทางการเมือง แต่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนของเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่งผลให้ภาคการส่งออกชะลอตัวลงมาก เป็นเหตุให้การบริโภคและการลงทุนต่างก็ซบเซาตามลงไป ดังนั้น การก้าวข้ามปัญหาและข้อจากัดด้านการลงทุนภาคเอกชนจะทำให้หนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นกลไกสำคัญที่มีประสิทธิภาพอีกครั้ง ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้ ซึ่งเพิ่มกำลังซื้อและทำให้การใช้จ่ายในประเทศขยายตัว นอกจากนี้ การลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตและเทคโนโลยีจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยและภาคการส่งออกในอนาคตด้วย บทความนี้ต้องการนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของภาวะการลงทุนภาคเอกชนไทยในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงปัญหาและสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจชะลอการลงทุนในช่วงดังกล่าว ผ่านมุมมองของผู้ประกอบการรวมถึงนำเสนอนัยทางนโยบายของการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ในระยะต่อไป

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ต่อ GDP ซึ่งต่ำกว่าระดับที่จะนำเศรษฐกิจไทยให้กลับไปขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ร้อยละ 4 - 5 จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ระดับการลงทุนภาคเอกชนที่จะทาให้เศรษฐกิจไทย ขยายตัวได้เต็มศักยภาพควรอยู่ที่ร้อยละ 26 ต่อ GDP และหากเรามาพิจารณาในมิติของอัตราการขยายตัวแล้ว พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉลี่ยหดตัว (รูปที่ 1) เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนไหวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index หรือ MPI) ที่หดตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่าธุรกิจส่วนใหญ่ลดปริมาณการลงทุน เนื่องจากยังมีกาลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบ ชัดเจนขึ้น รวมถึงอุปสรรคบางประการจากกฎเกณฑ์ภาครัฐ (รายละเอียดจะได้นำเสนอในบทความตอนที่ 2) ทั้งนี้ แม้ในปีที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น แต่ดูเหมือนมาตรการยังไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนเท่าที่ควร จึงเกิดคำถามว่า อะไรเป็นสาเหตุที่เหนี่ยวรั้งให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

จากข้อมูลเชิงลึกด้านภาวะการลงทุนและแนวโน้มของภาคธุรกิจที่ได้จากการสอบถามความ คิดเห็นของผู้ประกอบการทุกสาขาธุรกิจทั่วประเทศ จำนวน 747 บริษัทในปี 2558 ภายใต้โครงการ Business Liaison Programme หรือ BLP จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ประมาณหนึ่งในสามหรือจำนวน 273 บริษัทเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ในกลุ่มนี้มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีแผนการลงทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (รูปที่ 2) นอกจากนี้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ลงทุนเพื่อขยายอาคารและโรงงาน (ร้อยละ 16) ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นการใช้เม็ดเงินลงทุนที่สูงกว่าการลงทุนประเภทอื่น ๆ


การลงทุนขนาดใหญ่ยังจำกัดอยู่เพียงบางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้กระจายแบบ broad based ได้แก่ (1) กลุ่มธุรกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่ชัดเจน เช่น กลุ่มธุรกิจผลิต พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกกลุ่มธุรกิจ โทรคมนาคม กลุ่มธุรกิจยานยนต์ และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ (2) กลุ่มธุรกิจการค้าและบริการตามการขยายตลาดตามแนวโน้มการเติบโตของเมืองและทิศทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจห้างสรรพสินค้า และธุรกิจโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีสัดส่วนการผลิตน้อยในภาคการผลิตทั้งหมด อยู่ที่ร้อยละ 24 ของ GDP โดยแบ่งเป็นธุรกิจค้าส่งค้าปลีกร้อยละ 12 ธุรกิจ โทรคมนาคมและไปรษณีย์ร้อยละ 4 ธุรกิจยานยนต์ร้อยละ 3 ธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าร้อยละ 3 ธุรกิจก่อสร้างภาคเอกชนร้อยละ 1 และธุรกิจโรงพยาบาลภาคเอกชนร้อยละ 1 ทั้งนี้ หากเราพิจารณาการลงทุนจากมุมมองการนำเข้าสินค้าทุน พบว่าถ้าไม่นับรวมการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจพลังงานซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนสูง จะเห็นว่าการนำเข้า สินค้าทุนของกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนว่าการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) ยังคงชะลอตัว

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จากมุมมองของผู้ประกอบการ เราอาจประเมินได้ว่าการลงทุน ภาคเอกชนของไทยในปีนี้น่าจะยังมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งหากเราต้องการตอบคำถามที่ว่า “ภาวะเช่นไรจูงใจ ให้ธุรกิจลงทุน” นั้น เราก็คงต้องมาดูถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจชะลอการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะ ครอบคลุมถึงปัจจัยเชิงวัฏจักรจากภาวะอุปสงค์ชะลอตัว ข้อจากัดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านแรงงานและด้านเทคโนโลยี รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของภาครัฐที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนภาคเอกชน ที่ผมจะได้นำเสนอในบทความตอนที่ 2 ต่อไปครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย