​เหตุใดธนาคารกลางสื่อสารนโยบายการเงินมากขึ้น?

ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน


ท่านผู้อ่านที่สนใจข่าวในแวดวงการเงินอาจพอทราบถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อต้นปีนี้ ที่ปรับรูปแบบการจัดงานแถลงมุมมองเศรษฐกิจให้นักวิเคราะห์และสื่อมวลชนขึ้นพร้อมกันในงานนี้นอกจากจะมีเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้สรุปภาพแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินและทิศทางนโยบายการเงินแล้ว ยังมีผู้ว่าการ ธปท. และรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ซึ่งเป็นประธานและรองประธาน กนง. ร่วมสื่อสารเหตุผลการตัดสินนโยบายและตอบข้อซักถามของผู้ร่วมงานด้วยตัวเอง ปรากฏการณ์นี้ชวนให้คิดว่า เหตุใดธนาคารกลางจึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารนโยบายการเงินมากขึ้น?


ธนาคารกลางในโลกต่างพยายามสื่อสารนโยบายการเงินมากขึ้น

หากมองย้อนไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางในโลกได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากองค์กรที่สงวนคำพูดมาเป็นองค์กรที่สื่อสารโปร่งใสขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มใช้กรอบนโยบายการเงินที่ใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย (inflation targeting)กรอบใหม่นี้ต้องอาศัยการสื่อสารโปร่งใสมาช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจตรงกันว่า ธนาคารกลางกำหนดเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อตัวไหน อัตราเท่าไหร่ จึงจะสามารถยึดโยงการคาดการณ์เงินเฟ้อของธุรกิจและผู้บริโภคไว้ได้ จึงต้องชี้แจงเหตุผลของกระบวนการตัดสินนโยบายการเงินแต่ละครั้งผ่านหลายช่องทาง เช่น แถลงผลการประชุม ออกรายงานการประชุมและรายงานนโยบายการเงิน ให้สัมภาษณ์

ต่อมาในช่วงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2551 การสื่อสารยิ่งสำคัญขึ้นเพราะถูกใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน หลังจากที่ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ (unconventional monetary policy) ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนเหลือศูนย์หรือติดลบอ่อนๆ แถมด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดการเงินอยู่นานหลายปี

เมื่อการใช้เครื่องมือพวกนี้เริ่มมีข้อจำกัดและเศรษฐกิจต้องใช้เวลาฟื้นตัว ธนาคารกลางจึงหันมาใช้การสื่อสารทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน (forward guidance) เป็นเครื่องมือเสริมช่วยให้ธุรกิจและประชาชนคาดการณ์ได้อย่างมั่นใจว่า นโยบายการเงินจะผ่อนคลายไปจนกว่าภาวะเศรษฐกิจการเงินจะฟื้นตัวกลับมา จากนั้นค่อยส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม


พัฒนาการของการสื่อสารนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่น่าสนใจ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มเผยแพร่ผลการประชุมครั้งแรกในปี 2537 แต่ระบุแค่ว่ามีการปรับนโยบายการเงิน ในปีต่อมาค่อยระบุเพิ่มว่า มีการปรับเปลี่ยนอะไร อย่างไร จนปี 2542 ได้เริ่มเผยแพร่ผลการประชุมทุกครั้งแม้จะไม่มีการปรับนโยบายการเงิน และปี 2550 เริ่มเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไปข้างหน้า ต่อมาปี 2555 เริ่มเปิดเผยการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายไปข้างหน้าของกรรมการเป็นแผนภาพแบบจุด (dot plot) ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ สื่อสารนโยบายการเงินโปร่งใสขึ้นมากตั้งแต่ปี 2536 ที่เริ่มใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และเปิดเผยผลโหวตของกรรมการรายคนมาตั้งแต่ปี 2540 จนมาในปี 2558 มีพัฒนาการที่น่าสนใจ คือ ได้รวบวันเผยแพร่ผลการประชุม รายงานประชุม และรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ รวมถึงจัดงานแถลงข่าวโดยผู้ว่าการ ให้อยู่ในวันเดียวกันหลังประชุมเสร็จเพียง 1 วัน ที่เรียกว่า “Super Thursday” เพื่อให้สาธารณะได้รับข้อมูลที่สอดคล้องกันในคราวเดียว จากที่เคยกระจายการสื่อสารออกไปภายใน 2 สัปดาห์หลังจบการประชุม

สำหรับ ธปท. ก็มีพัฒนาการในการสื่อสารนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติเนื้อหา ปริมาณ และช่องทางที่หลากหลายขึ้น [1] หลังเปลี่ยนมาใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2543 ได้เผยแพร่ผลการประชุมหลังจบการประชุมและจัดทำรายงานนโยบายการเงินรายไตรมาส ต่อมาในปี 2554 ได้เผยแพร่รายงานการประชุมฉบับย่อ และในปี 2560 มีการปรับปรุงเนื้อหารายงานนโยบายการเงินให้สั้นกระชับขึ้น ต่อมาในปี 2561 ได้เริ่มถ่ายทอดสดแถลงผลการประชุมผ่านสื่อออนไลน์ และรวบวันเผยแพร่รายงานการประชุมฉบับย่อพร้อมรายงานนโยบายการเงินไว้ในวันเดียวกัน และล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ที่กรรมการ กนง. ร่วมสื่อสารในงานแถลงมุมมองเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินต่อนักวิเคราะห์และสื่อมวลชนโดยตรง


การสื่อสารนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่โปร่งใสขึ้นดีอย่างไร?

การสื่อสารที่โปร่งใสขึ้นช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และทิศทางนโยบายการเงินในปัจจุบันและอนาคตได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความไม่แน่นอนของธุรกิจและประชาชนในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ เช่น ใช้จ่ายหรือลงทุน กู้หรือออมมากเท่าไหร่แล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือนโยบายการเงินผ่านการคาดการณ์ของผู้คนที่จะส่งต่อไปยังระบบเศรษฐกิจได้ด้วย นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดการเงินที่ติดตามการสื่อสารของธนาคารกลางอย่างใกล้ชิดจะสามารถคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตได้แม่นยำขึ้น ช่วยให้การสื่อสารของธนาคารกลางมีผลต่อการปรับตัวของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ในตลาดการเงิน เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตร ราคาหุ้น ได้ในที่สุด ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญ โดยเฉพาะในประเทศที่ตลาดการเงินพัฒนามากและมีบทบาทเชื่อมโยงในระบบเศรษฐกิจสูง


ความท้าทายของธนาคารกลางต่อการสื่อสารนโยบายการเงินในระยะต่อไป?

โจทย์สำคัญคือธนาคารกลางจะสามารถปรับรูปแบบการสื่อสารให้ “สังคมเข้าใจ (public understanding) และเข้าใจสังคม (understanding public)” ได้ดีขึ้นและสอดคล้องกับยุคสมัยได้อย่างไร โดยเน้นสื่อสารแบบสองทาง (more conversation)เพิ่มเติมจากที่เน้นสื่อสารมากขึ้น (more communication) หรือเลือกเนื้อหาของการสื่อสารที่อาจเข้าใจไม่ง่าย มาจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ย่อมๆ ที่เข้าถึงกลุ่มคนกว้างขึ้นในหลายช่องทาง เช่นผ่าน Infographics สื่อดิจิทัลบนโลกออนไลน์ รวมทั้งรับฟังคุณภาพของการสื่อสารที่ส่งไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงินผ่านการคาดการณ์ของทุกคนได้ดียิ่งขึ้น


[1] ทศพล อภัยทาน และ ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์. 2562. “ถอดบทเรียนสองทศวรรษการสื่อสารของธนาคารแห่งประเทศไทย: วิเคราะห์การสื่อสารของ ธปท. ด้วย Text Mining”


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย