นายฐิติกร เทอดไทยแท้
นางสาวนลิน หนูขวัญ
ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Bank of China) ได้มีความร่วมมือกันภายใต้แผนการส่งเสริมการใช้เงินหยวนในการชาระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ซึ่งภายใต้กรอบดังกล่าวไม่ได้มีแต่เฉพาะความตกลงระหว่างแบงค์ชาติของสองประเทศ แต่ยังรวมถึงการดึงให้ภาคธนาคาร และเอกชนให้มีส่วนร่วมในการผลักดันสนับสนุนให้ใช้เงินสกุลหยวนให้มากขึ้นอีกด้วย หนึ่งในการผลักดันตามแผน คือ ทางการจีนได้แต่งตั้งให้ธนาคาร ICBC (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวนหรือ Renminbi Clearing Bank ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้มีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา
หลายท่านแม้แต่ที่อยู่ในแวดวงการเงินอาจกำลังสงสัยว่า Renminbi Clearing Bank คืออะไร เหตุใดจึงต้องมีธนาคารดังกล่าวในประเทศไทยด้วย และไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง วันนี้เราจะไขข้อข้องใจไปพร้อมๆ กัน
Renminbi Clearing Bank คือ ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับคัดเลือกโดยธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชำระเงิน (Settlement) และให้บริการทางการเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินหยวน ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ประกอบการไทยต้องการชำระเงินค่าสินค้านำเข้าแก่ผู้ประกอบการในจีนเป็นเงินหยวน ในกระบวนการปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยจะต้องชาระเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งจะติดต่อไปยังธนาคารตัวแทนต่างประเทศ (Corresponding Bank) ในประเทศจีนอีกทอดหนึ่ง เพื่อชำระเงินให้ผู้ประกอบการในจีน แต่ขณะนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถชาระเงินได้โดยตรงกับ Renminbi Clearing Bank ที่อยู่ในประเทศไทย โดยไม่ต้องผ่านธนาคารตัวแทนต่างประเทศในจีน ซึ่งการทำธุรกรรมผ่าน Renminbi Clearing Bank จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระเงินหยวนได้ควบคู่ไปกับช่องทางเดิม
สาเหตุที่เราต้องมี Clearing Bank สาหรับสกุลเงินหยวนโดยเฉพาะนั้น เนื่องจากปัจจุบันจีนยังคงมีกฎเกณฑ์และมาตรการควบคุมปริมาณเงินหยวนที่จะไหลเข้าออกจากประเทศ (onshore - offshore) Clearing Bank จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้สามารถเข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวนในประเทศจีนได้มากขึ้น เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เราจะเปรียบเงินหยวนในประเทศจีน (Chinese Yuan - CNY) เสมือนขุมทรัพย์ในหีบสมบัติ โดยมีกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเปรียบเสมือนกุญแจที่ล็อคหีบสมบัติไว้อย่างแน่นหนา ในอดีตจีนหวงแหนสมบัติในหีบเป็นอย่างมากและมีการควบคุมปริมาณอย่างเคร่งครัด จีนจึงปล่อยให้มีเพียงสกุลเงินหยวนฮ่องกง (Chinese Hong Kong - CNH) ซึ่งเป็นขุมทรัพย์นอกหีบที่จีนอนุญาตให้ทำธุรกรรมได้อย่างเสรี แต่เมื่อใดที่ต้องการจะเข้าไปทำธุรกรรมในประเทศจีนก็ต้องผ่านธนาคารตัวแทนต่างประเทศ ดังนั้น ธนาคารตัวแทนต่างประเทศจึงเปรียบเสมือนผู้ถือกุญแจที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงแหล่งขุมทรัพย์ในหีบของจีนได้ อย่างไรก็ตาม ขุมทรัพย์เหล่านั้นต้องถูกนำไปแบ่งกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้บริการกับธนาคารดังกล่าว ทำให้เราเข้าถึงแหล่งขุมทรัพย์ในหีบนั้นได้ในปริมาณที่จำกัด ดังนั้น Clearing Bank จึงเสมือนเป็นกุญแจดอกใหม่ดอกสำคัญของไทยที่ใช้ไขเข้าสู่หีบของจีน ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งขุมทรัพย์ CNY ในหีบของจีนได้ ทั้งนี้ จีนจะเป็นผู้คัดเลือกว่าจะแจกจ่ายกุญแจดอกใหม่ดอกนี้ให้กับใคร บ้าง โดย ณ ปัจจุบัน จีนได้มอบกุญแจให้กับธนาคารพาณิชย์ของจีนที่ตั้งอยู่ใน 14 ประเทศทั่วโลก(1)
นอกจากประโยชน์ทางตรงสาหรับเอกชนไทยในการมีทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการเข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวนแล้ว การจัดตั้งให้มี Renminbi Clearing Bank ในไทยยังช่วยเสริมศักยภาพของประเทศให้เป็นศูนย์กลางในการทาธุรกรรมเงินหยวนกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง อันได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ รวมทั้งเวียดนาม โดยประเทศเหล่านี้สามารถใช้ไทยเป็นประตูเชื่อมโยงในการทำธุรกรรมกับจีนได้ ในขณะเดียวกัน จีนก็สามารถใช้ไทยเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมผ่านไปยังประเทศเหล่านี้ได้เช่นกัน ไทยจึง ได้รับประโยชน์ในฐานะผู้ผลักดันการใช้เงินหยวนในอนุภูมิภาคที่มากขึ้น และจีนเองก็ได้รับประโยชน์จากการที่ เงินหยวนได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย
ตราบเท่าที่ทางการจีนยังมีการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินหยวน (CNY) Clearing Bank จะเป็น อีกหนึ่งกลไกสำคัญเพื่อรองรับปริมาณการค้า การลงทุนระหว่างไทยและจีนในฐานะคู่ค้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ไทยไม่ต้องตกขบวนรถไฟแห่งการปฏิรูปภาคการเงินของจีน ซึ่งกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญ Renminbi Clearing Bank นั้น นอกจากจะสื่อถึงความร่วมมือทางการเงินครั้งสำคัญแล้ว ยังแสดงถึงท่าทีของจีนที่มองประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนการค้าและการลงทุน ซึ่งจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยและจีนเจริญเติบโตงอกงามไปด้วยกัน
-------------------------
(1) Renminbi Clearing Bank ใน 14 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน, สิงคโปร์, อังกฤษ, เยอรมนี, ลักเซมเบิร์ก, ฝรั่งเศส, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, กาตาร์, แคนาดา, ออสเตรเลีย และ ไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2558)
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย