​ความโปร่งใสคือหัวใจของนโยบายการเงิน

นายนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ฝ่ายนโยบายการเงิน



ในช่วงปลายปี หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมีการผลัดเปลี่ยนผู้บริหารและคณะกรรมการกันจำนวนมาก เป็นไปตามจังหวะเวลาทั้งการเกษียณอายุและการครบวาระดำรงตำแหน่ง “คณะกรรมการการนโยบายการเงิน” (กนง.) ของแบงก์ชาติก็จะครบวาระ 3 ปีในปีนี้เช่นกัน และจะมี กนง. ชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป วันนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ กนง. กันให้มากขึ้นครับ

กนง. เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้านนโยบายของแบงก์ชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมุ่งหมายให้การตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินมีความน่าเชื่อถือ เป็นอิสระจากการเมือง มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักธรรมาภิบาล (good governance)
กนง. ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 ท่าน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกแบงก์ชาติ 4 ท่าน และเป็นผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติ จำนวน 3 ท่าน จึงเชื่อมั่นได้ว่านโยบายการเงินไม่ได้ตัดสินใจจากคนแบงก์ชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว กรรมการ กนง. 4 ท่านจากภายนอกต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร ได้รับการคัดสรรและแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ทั้งนี้ กรรมการ กนง. 4 ท่านจากภายนอกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และเป็นติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้

กฎหมายกำหนดให้ กนง. มีความเป็นอิสระจากการเมือง โดยต้องไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือมีตำแหน่งในพรรคการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และ กนง. ต้องไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยต้องไม่เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีเช่นเดียวกัน รวมถึง กนง. ต้องไม่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของนิติบุคคลซึ่งมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของแบงก์ชาติอีกด้วย

สำหรับเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีหลายประเด็นให้พูดถึงครับ เรื่องแรกคือการเปิดเผยตารางการประชุมล่วงหน้า โดยจะเปิดเผยทางเว็บไซต์แบงก์ชาติตั้งแต่ปีก่อนหน้า และกรรมการ กนง. รวมถึงเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติที่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถให้สัมภาษณ์หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินนโยบายการเงินได้เป็นเวลา 7 วันก่อนหน้าวันประชุม กนง. หรือที่เรียกว่า “silent period” อย่างไรก็ดี เมื่อการประชุม กนง. เสร็จสิ้นลงแล้วจะมีการสื่อสารเพื่อเปิดเผยข้อมูลตามมาหลายเรื่องด้วยกัน

กนง. จะประชุมปีละ 8 ครั้ง ทุก 6 - 8 สัปดาห์ แต่หากสถานการณ์ไม่ปกติสามารถเรียกประชุมนัดพิเศษเพิ่มได้ เช่น กนง. ประชุมนัดพิเศษเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงโควิด 19 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ตามปกติ กนง. จะประชุมในช่วงเช้าวันพุธ เมื่อประชุมเสร็จแล้วจะมีการแถลงผลการประชุม กนง. เวลาบ่ายสองโมงตรง ซึ่งในโลกยุคดิจิทัลนี้ จะมีการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live ด้วย ในแถลงผลการประชุมจะระบุถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้น/คงที่/ปรับลง เหตุผลในการตัดสินใจ ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคต (เผยแพร่ประมาณการไตรมาสละครั้ง) รวมทั้งปิดเผยสัดส่วนการลงคะแนนของ กนง. อีกด้วย ซึ่งจัดว่ามีความโปร่งใสมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่เปิดเผยเพียงผลการตัดสินอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยไม่บอกสัดส่วนการลงคะแนน

หลังประชุม กนง. 2 สัปดาห์ จะมีการเผยแพร่รายงานการประชุม กนง. (ฉบับย่อ) ในเอกสารดังกล่าวจะมีข้อมูลแนวโน้มและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินในมิติต่าง ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่แบงก์ชาตินำเสนอต่อ กนง. รวมถึงความเห็นของกรรมการ กนง. ต่อประเด็นต่าง ๆ และเหตุผลในการตัดสินนโยบายการเงิน ทั้งที่เป็นความเห็นของเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย เพื่อสะท้อนข้อมูลและการตัดสินใจที่รอบด้านของ กนง. ให้สาธารณชนรับทราบ นอกจากนี้ ในทุก ๆ ไตรมาส กนง. จะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงิน ที่นำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงินในรายละเอียด และจัดการประชุมนักวิเคราะห์เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์ได้สอบถามแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารแบงก์ชาติที่เป็นกรรมการ กนง. และเลขานุการ กนง. โดยตรง

ผมเล่าถึงที่มา ความเป็นอิสระ และความโปร่งใสของ กนง. แล้ว หลายท่านคงคิดต่อถึงเรื่องเป้าหมายและความรับผิดชอบของ กนง. ว่าเป็นอย่างไร กฎหมายกำหนดให้ กนง. จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินร่วมกันกับรัฐบาลครับ ความเป็นอิสระของ กนง. อยู่ที่วิธีการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อไปสู่เป้าหมาย แต่เป้าหมายจะกำหนดร่วมกันกับรัฐบาล โดย กนง. จัดทำความตกลงร่วมกัน (MOU) กับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงิน และเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติทุกสิ้นปี สำหรับ MOU ประจำปี 2563 มีเนื้อหาสำคัญ คือ ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางเป็นเป้าหมายหลัก ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 - 3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง

สำหรับความรับผิดชอบนั้น กนง. ต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานทุกครึ่งปีส่งให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านทางมติคณะรัฐมนตรีด้วย รวมทั้งในช่วงหลังโควิด 19 เป็นต้นมา กนง. ได้รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจให้คณะรัฐมนตรีทุกไตรมาสเพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น สำหรับในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าเฉลี่ยออกนอกกรอบในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หรือในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจากการประมาณการ กนง. จะออกจดหมายเปิดผนึก (open letter) ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเปิดเผยต่อสาธารณชน ในจดหมายเปิดผนึกจะระบุถึงสาเหตุของการออกนอกกรอบเป้าหมาย แนวนโยบายเพื่อนำกลับเข้ากรอบเป้าหมาย และระยะเวลาที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยจะเขียนจดหมายเปิดผนึกอีกครั้งทุก ๆ 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ความรับผิดชอบของ กนง. ต่อสาธารณชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการดำเนินงานของธนาคารกลางทั้งหมดรวมถึงนโยบายการเงิน ล้วนตั้งอยู่บนรากฐานของความเชื่อมั่น หรือ public trust ของประชาชน หากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการทำงานของ กนง. แล้ว นโยบายการเงินย่อมขาดประสิทธิผล ซึ่งการสร้าง public trust นั้นขึ้นอยู่กับความโปร่งใส หากประชาชนเห็นว่า กนง. ตัดสินนโยบายการเงินด้วยหลักการที่เหมาะสม บนข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน และสามารถอธิบายเหตุผลให้สาธารณชนเข้าใจได้ จะช่วยให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในนโยบายการเงินและร่วมกันปรับตัวเพื่อฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้ครับ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>