เงินเฟ้อคาดการณ์: จากความเชื่อสู่ความเป็นจริง (ตอนที่ 1)

นางสาววนิชา ดิเรกอุดมศักดิ์

บทความนี้เป็นครั้งที่สามที่เราจะมาพูดถึงราคาสินค้าและการดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดเงินเฟ้อและสามารถสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ นั่นคือ เงินเฟ้อคาดการณ์

เงินเฟ้อคาดการณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ธนาคารกลางหลายประเทศใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หากแต่ยังเป็นสิ่งที่ยังไม่รู้จักกันอย่างกว้างขวางนักในประเทศไทย ทั้งๆที่เงินเฟ้อคาดการณ์นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดเงินเฟ้อ และถึงแม้สิ่งที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในความรู้สึกผู้คนส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยการผลิต เช่น ราคาน้ำมัน แต่การศึกษาทางสถิติกลับพบว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดเงินเฟ้อไทยถึงประมาณร้อยละ 60 จากพฤติกรรมของคนในระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปตามเงินเฟ้อที่เขาคาดถึงตรงนี้ หลายท่านคงสงสัยแล้วว่า เงินเฟ้อคาดการณ์คืออะไร และส่งผลต่อเงินเฟ้อได้อย่างไร?

เงินเฟ้อคาดการณ์ คือ ระดับราคาสินค้าและบริการที่คนคิดหรือคาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตความคิดหรือความเชื่อดังกล่าวย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในแง่การออม การใช้จ่าย และการลงทุน จนทำให้ราคาสินค้าเปลี่ยนไปตามที่คิดไว้จริงๆ ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดว่า หากหลายๆ คนคิดว่าราคาข้าวของในอนาคตจะปรับสูงขึ้น ในฐานะผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็จะเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากักตุนไว้เยอะๆ นอกจากนี้ หากเราคาดว่าในอนาคต เงินจำนวนเท่าเดิมที่มีอยู่จะซื้อของได้น้อยลง เราย่อมไม่อยากเก็บเงิน และนำเงินออกมาใช้พฤติกรรมการกักตุนหรือการเร่งใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ดังกล่าวนี่เองที่ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมาก พวกพ่อค้าปรับราคาสูงขึ้นก็ยังขายได้ ราคาสินค้าจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะเงินเฟ้อในที่สุด

หากมองในมุมของลูกจ้าง เมื่อใดก็ตามที่ลูกจ้างคาดว่าจะต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น เขาย่อมเรียกร้องหรือกดดันให้เจ้านายเพิ่มค่าจ้างให้ตนเองเพื่อชดเชยกำลังซื้อที่กำลังจะหายไป และผู้ผลิตก็จะมีภาระต้นทุนการผลิตมากขึ้นหากปรับค่าจ้างตามที่ลูกจ้างเรียกร้อง

ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้ผลิตก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะเมื่อใดที่ผู้ผลิตเห็นว่าราคาสินค้าจะขึ้น เขาก็จะฉวยโอกาสปรับราคาขึ้นไปก่อน และยิ่งถ้าเขาคาดการณ์ว่าราคาวัตถุดิบจะสูงขึ้นและทำให้กำไรในอนาคตของเขาจะลดลงด้วยแล้ว การปรับราคาสินค้าขึ้นจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการรักษาระดับกำไรไว้ให้คงเดิม (หรือมากกว่าเดิม) ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้ผลิตคาดการณ์ว่าต่อไปราคาวัตถุดิบจะสูงขึ้น เขาย่อมกว้านซื้อวัตถุดิบมากักตุนไว้ จนกระทั่งราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นจริง เมื่อประกอบกับค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตก็จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และเดาได้ไม่ยากเลยว่าผู้ผลิตย่อมผลักภาระดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคในรูปของราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น

ผู้อ่านคงพอทราบแล้วว่า พฤติกรรมคนที่เปลี่ยนจากเงินเฟ้อคาดการณ์ส่งผลต่อราคาสินค้าได้อย่างไรโดยการคาดการณ์ราคาสินค้าในอนาคตที่ว่านี้ก็มาจากข่าวสารที่รับรู้ว่าเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างเฟื่องฟูค่าจ้างค่าแรงขึ้น ราคาน้ำมันพุ่งสูง สินค้าขึ้นราคา ข้าวของขาดแคลนหรือไม่ กำลังการผลิตเพียงพอหรือเปล่ารวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อทางการว่าจะมีนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสมในการดูแลภาวะเงินเฟ้อได้ดีเพียงใด

การควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ไว้ได้แล้ว การคาดการณ์เงินเฟ้อก็จะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้ดังนั้น การดูแลเงินเฟ้อคาดการณ์จึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของทางการ ว่าทางการจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ได้อย่างไร และในขณะนี้มีข้อมูลเพียงพอแล้วหรือไม่ สามารถติดตามอ่านได้ในครั้งหน้านะคะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย