นางบูชิตา พรหมมานุวัติ เลิศพูนวิไลกุล
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
“VUCA[1]” เป็นคำที่ถูกพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว แม้รากศัพท์มีที่มาจากแนวคิดทางการทหาร แต่ถูกนำมาใช้อธิบายถึงบริบทของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคาดเดาได้ยาก ซึ่งโลกแบบ VUCA ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจในแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการค้า พฤติกรรมผู้บริโภค กิจกรรมการตลาด หรือการทำธุรกรรมการเงิน คำถามที่อยู่ในใจหลายท่านคือ แล้ว SMEs จะปรับตัวเดินหน้าในโลกยุค VUCA อย่างไร? ในงานสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ได้วิทยากรรุ่นใหม่ที่มีมุมมองธุรกิจและวิธีคิดที่คมคาย มาชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจที่เข้าใจความท้าทายและปรับตัวได้เท่าทันกระแส Disruption จึงสามารถ “อยู่รอด” และ “อยู่ได้”
Disrupt ตัวเองก่อนถูก Disrupt
เมื่อโลกเปลี่ยน วิธีการแบบเดิม ๆ ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป SMEs จึงต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต และกล้าเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ยกตัวอย่างสถาบันการเงินแห่งหนึ่งประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในสภาวะที่ธุรกิจยังมีกำไรสูง เพื่อเตรียมตัวรับกระแส Digital disruption ไม่ว่าจะเป็น Blockchain Fintech AI หรือเงินสกุลดิจิทัล โดยประกาศตั้งเป้า 3 ปีปรับลดสาขาลง 400 แห่ง และพนักงานกว่า 12,000 คน ลดสายการบังคับบัญชา เพื่อให้ขับเคลื่อนได้เร็ว และเตรียมคนให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ รวมทั้งปรับทิศวางเป้าหมายสู่การทำธุรกิจให้เป็นได้มากกว่าธนาคาร ถือได้ว่าเป็นความชัดเจนในการ Disrupt ตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสอยู่รอด
Digital technology คือพลังของโลกยุคนี้
คุณไผท ผดุงถิ่น จาก BUILK กล่าวว่า “วงการรับเหมาก่อสร้างเป็นวงการที่ห่วย ช้า แพง และล้าหลังที่สุดวงการหนึ่ง” จากการมองเห็น Pain point ด้านการบริหารจัดการซึ่งเป็นปัญหาหลักของวงการผู้รับเหมา ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนผันผวน งบประมาณบานปลาย และงานเอกสารล่าช้า อีกทั้งผู้รับเหมายังปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่มาเร็ว ทำให้ทุกคนที่อยู่ใน Supply chain ของอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา และผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อยู่บนความเสี่ยงจากการควบคุมต้นทุนไม่ได้ แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า “ที่ไหนมีปัญหา ที่นั่นมีโอกาส” คุณไผทจึงได้สร้าง Digital platform เพื่อแก้ปัญหา เริ่มจากการสร้าง Software ระบบควบคุมต้นทุนให้ผู้รับเหมาใช้ฟรี จากนั้นปรับโมเดลธุรกิจสู่ e-Commerce โดยเปิดร้านวัสดุก่อสร้างออนไลน์แบบ B2B จำหน่ายวัสดุก่อสร้างราคาถูกให้กับสมาชิก ก่อนขยับตัวอีกครั้งเพื่อทำ Software บริหารจัดการธุรกิจก่อสร้างให้กับ Developer แบบครบวงจร ซึ่งวิธีคิดและกลยุทธ์ในการตีฝ่าวิกฤตของ BUILK ถือเป็นผู้นำในการใช้พลังของเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา และสร้างโอกาสด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ที่โลกยังต้องจับตามอง
นวัตกรรม คืออาวุธสำคัญของ SMEs
ปฏิเสธไม่ได้ว่า SMEs ยุคนี้เกิดง่ายแต่รอดยาก ขนาดขององค์กรไม่ได้บ่งชี้ถึงความสามารถและความได้เปรียบทางธุรกิจ หากแต่เป็นการตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและตอบโจทย์ตลาด คุณสมิต ทวีเลิศนิธิ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด กล่าวไว้น่าสนใจว่า “เราเปลี่ยนตัวเองจากการขาย “สินค้า” มาสู่ “กิจการปัญญาเข้มข้น” เพราะจุดแข็งด้าน R&D ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ และขยายธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนารสชาติอาหารให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้และสร้างความเติบโตไปด้วยกันทั้งอุตสาหกรรม”
รู้ทันเทรนด์การค้า เทรนด์โลก และเทรนด์ผู้บริโภค
โลกของการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีต SMEs ต้องเรียนรู้ที่จะ Move up และ Move online รวมถึง Move out ออกจากประเทศไปในช่องทางใหม่ ๆ e-Commerce จึงเป็นคำตอบที่ทำให้ผู้ประกอบการธรรมดาสามารถสร้างแบรนด์ได้ คุณบุญชัย ลิ่มอติบูลย์ จาก Snail White กล่าวว่า “ปัจจุบันการค้าออนไลน์ของจีนมีมูลค่าประมาณ 42 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าปลีกของจีน ขณะที่ไทยยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ของมูลค่าการค้าปลีกในประเทศ การค้าออนไลน์ของไทยจึงยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก และเป็นช่วงที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้อยู่ใน Platform online จะหันมารุกตลาด e-Commerce เพราะมีการ Subsidize อยู่ไม่น้อย”
รู้วิธีบริหารเงินและความเสี่ยง
คำกล่าวที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” เป็นประโยคที่เป็นจริงทุกยุคสมัย SMEs จึงต้องรู้วิธีรับมือกับความเสี่ยงทางการเงิน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาว่า “การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดดทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว ขณะเดียวกันธุรกิจควรฉกฉวยโอกาสและใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้านี้ โดยเฉพาะการยกระดับประสิทธิภาพการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ธุรกิจได้ใช้บริการในราคาที่ถูกลงมาก และท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ธุรกิจจำเป็นต้องมีความสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเมื่อมองไปข้างหน้า ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมีแต่จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการควรมีแนวคิดว่าค่าธรรมเนียมการป้องกันความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการทำธุรกิจ”
โดยสรุป ภายใต้โอกาสและความท้าทายของโลกยุคใหม่ การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกที่คาดเดาได้ยากจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางที่เลี่ยงไม่ได้ และถือเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ประเทศเดินหน้า สอดคล้องกับมุมมองของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่ได้จากในงานสัมมนานี้เช่นกันคือ “เมื่อโลกพยากรณ์ได้ เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้” ผู้เขียนหวังว่าข้อคิดเหล่านี้จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยไขความสำเร็จให้ SMEs สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว ทันการณ์ ภายใต้บริบทของโลก VUCA นี้
---------------------
[1] VUCA ย่อมาจาก V-volatile ความผันผวน, U-uncertain ความไม่แน่นอน, C-complex ความซับซ้อน และ A-ambiguous คาดเดาได้ยาก
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย