​ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกระแสกับความเป็นจริง

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเกี่ยวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ว่ากันว่าหลายฝ่ายทั้งรัฐบาลและเอกชนต้องการให้ลดลง เป็นประเด็นที่เห็นผ่านหน้าสื่ออยู่เนืองๆ

อันที่จริง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความตระหนักถึงภารกิจนี้เป็นอย่างดี เราไม่ต้องการให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัท ห้างร้านในภาคธุรกิจการผลิตการบริการมีอยู่ในระดับสูงส่งผลให้สินค้าหรือบริการมีราคาสูง เป็นภาระของประชาชนโดยทั่วไป และมีผลให้ความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกมีอุปสรรค จึงได้มีการติดตามดูแลมาอย่างต่อเนื่องว่าสเปรดของเรากว้างไปหรือไม่ และจะทำอย่างไรเพื่อให้สเปรดลดลงได้อีก

แต่ก่อนอื่นควรจะทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า เราวัดสเปรดอย่างไร เพราะเวลานี้มีการพูดถึงสเปรดด้วยความหมายที่แตกต่างกันวิธีวัดมี 3 แบบคือ

1. ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลบ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ตรงๆ วิธีการนี้จะได้ส่วนต่างที่ 5%เมื่อสิ้นปี 2552

2. ใช้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรับเฉลี่ย ลบอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจ่ายเฉลี่ย หรือเรียกว่า Effective Interest Rate Spread ได้อยู่ที่ 4%

3. ใช้จำนวนดอกเบี้ยรับทั้งสิ้น ลบจำนวนดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น หารด้วยสินทรัพย์ทั้งสิ้น หรือ Net Interest Rate Margin (NIM) ซึ่งอยู่ที่ 2.8%

ธปท.ใช้แบบที่ 3 นี้ในการอ้างอิง เพราะเป็นการคำนวณที่สะท้อนข้อเท็จจริงมากที่สุด เนื่องจากในสินเชื่อก็มีบางส่วนที่เป็น NPL ไม่สามารถสร้างรายได้ ขณะที่เงินฝากบางส่วนก็ไม่มีดอกเบี้ย รวมทั้งเป็นวิธีการที่หลายประเทศใช้ในการเทียบเคียงเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน

วกกลับมาถึงวิธีการประเมินว่าสเปรดของเราสูงหรือต่ำอย่างไร วิธีประเมินก็มีหลายวิธี

ข้อแรกประเมินโดยเทียบเคียงกับประเทศในอาเซียน เราจะเห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NET INTEREST MARGIN) เมื่อสิ้นปี 2552 ที่ 2.8%

Fitch Ratings ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับชั้นนำให้อยู่ที่ 3.4% โดยเขาเอาผลกำไรของบริษัทในเครือมารวมด้วย แต่ ธปท. อยากรู้ของตัวสถาบันการเงินเองไม่ใช่นำกำไรของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทประกันภัยในเครือมารวม อยู่ที่ประมาณค่าเฉลี่ยพอดี มีสิงคโปร์และมาเลเซียต่ำกว่าเราที่ 2.2-2.5%

เราจึงคิดว่าธนาคารพาณิชย์ยังสามารถพัฒนาให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของเราแคบลงได้อีก มีคนเอาผลของประเทศเราไปเทียบกับอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเห็นว่ามันคนละเรื่องด้วยพื้นฐานการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเรามีประเทศในอาเซียนที่ดีกว่าเราก็ต้องตามให้ทันไม่ควรหยุดนิ่งกับที่

ข้อที่สองประเมินโดยดูว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของเรามีกำไรเป็นสัดส่วนกับเงินลงทุน (ROE) เท่าไร ปรากฏว่า ณ สิ้นปี 2552 อยู่ในระดับ 8-10% ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกำไรในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่อยู่ประมาณ 12%

จริงอยู่ที่ปลายปี 2552 กำไรสุทธิรวมของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท แต่ต้องเข้าใจว่าเงินลงทุนในระบบธนาคารพาณิชย์มีอยู่ถึงเกือบ 1 ล้านล้านบาท ตัวเลขกำไรจึงดูสูง แต่ความสามารถทำกำไรไม่ได้ดีกว่าบริษัทห้างร้านทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์

หมายความว่าถ้าระบบธนาคารพาณิชย์ลงทุน 100 บาท จะมีกำไรเฉลี่ย 8-10 บาท ส่วนบริษัทห้างร้านทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ หากลงทุน 100 บาทเท่ากัน จะมีกำไรประมาณ 12 บาท ซึ่งมากกว่าระบบธนาคารพาณิชย์

ข้อที่สามข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมปี 2550 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ทำข้อมูลต้นทุนทางการเงินทุก 10 ปี) ซึ่งเก็บตัวเลขมาปรากฏว่า 80% ของบริษัทใหญ่ทั้งหมดมีต้นทุนทางการเงินอยู่ไม่ถึง 3% ของต้นทุนรวมและค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1% ส่วน SMEs นั้นอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 4% และค่าเฉลี่ยสูงกว่า 1% การที่เราสามารถส่งออกในครึ่งปี 2553 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 37% ก็น่าจะแสดงว่าต้นทุนการเงินไม่น่าจะสูงจนเป็นภาระต่อการประกอบธุรกิจ

ข้อที่สี่หากเราดูอัตราส่วนระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อรายได้ ก็เห็นว่าระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ประมาณ 55% นับว่ายังสูงอยู่ โดยมีสาเหตุหลายประการ เช่น เพราะต้องจ่ายสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ 0.4% ต่อปี ซึ่งจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงิน หรือมีความจำเป็นในการปรับปรุงระบบงานเทคโนโลยี ซึ่งใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก เป็นต้น ซึ่งก็อาจมีบางรายการที่เราคิดว่าอาจจะลดได้

กล่าวโดยสรุป เราคิดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของเรายังทำได้ดีกว่านี้ได้ แล้วเราจะทำอย่างไร คำตอบก็คงอยู่ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2553-2557 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะ 1) ลดต้นทุน 2) เสริมสร้างประสิทธิภาพ และ 3) จัดระบบโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับระบบธนาคารพาณิชย์ให้ดีขึ้น แน่นอนถ้าต้นทุนลด การแข่งขันมากขึ้นสเปรดหรือส่วนต่างดอกเบี้ยก็ย่อมลดลง ธปท.เชื่อว่าสิ่งที่เป็นอยู่ถ้าไม่ดีก็ควรทำให้ดีขึ้นได้ ส่วนที่ดีอยู่แล้วก็ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีกเช่นกันแต่การพัฒนาต้องใช้เวลา ถ้าจะกำหนดกฎเกณฑ์เองโดยไม่อิงกลไกตลาด ก็จะถอยหลังกลับไปสู่ระบบที่มิใช่เสรีประชาธิปไตย ซึ่งก็คงไม่ใช่อีก

แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินช่วงที่ 2 นี้ได้มีแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพของธนาคารพาณิชย์ไว้ โดยได้เชิญผู้แทนจากภาคธนาคารพาณิชย์และเอกชนต่างๆ มาร่วมเป็นกรรมการทำด้วย หากแผนนี้ประสบความสำเร็จก็จะพัฒนาประสิทธิภาพของธนาคารพาณิชย์และสเปรดก็จะลดลงได้

ปัจจุบัน ธปท. ดำเนินงานภายใต้กฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2551 นอกจากมีผู้ว่าการและพนักงานเป็นผู้ดำเนินการแล้ว ยังมีคณะกรรมการใหญ่ 1 ชุดคือ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการอื่นอีก 3 ชุด ตามภารกิจหลักๆ ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงินคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการนโยบายระบบการชำระเงิน ซึ่งทุกชุดมีคนนอกและผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมเป็นกรรมการมากกว่าคนใน ธปท. เพื่อให้การตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ต่างๆ ได้รับข้อมูลและความเห็นจากภายนอกด้วย มิใช่มาจากความเห็นของธปท. แต่เพียงฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ ตามกฎหมายปัจจุบันของ ธปท.พนักงานโดยเฉพาะผู้บริหารที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินก็กำหนดไว้แน่นหนาต้องไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ซึ่งอาจทำให้เราไขว้เขวจากภารกิจที่มีอยู่ เมื่อเกษียณอายุไปก็จะไปทำงานกับสถาบันการเงินไม่ได้ไปอีก 1 ปี สำหรับผู้ว่าการก็กำหนด 2 ปี เกณฑ์นี้เป็นเรื่องที่ ธปท. ยกร่างขึ้นมาเอง เพื่อให้มีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเหตุผลที่ ธปท. จะไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งในความเป็นจริงก็คงทำไม่ได้ด้วยโครงสร้างการทำงานที่กล่าวข้างต้น


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย