นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน เผลอแป๊บเดียวเวลาก็เดินมาถึงเดือนสุดท้ายของปี 2553 แล้ว ในช่วงนี้หลายๆ ท่านก็คงกำลังวางแผนบริหารเงินโดยการออมหรือลงทุนทั้งการซื้อประกันชีวิตหรือลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ทั้ง LTF และ RMF เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีนี้

บริษัทประกันที่นำเสนอกรมธรรม์ประกันต่างๆ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่เป็นผู้บริหารในกองทุนและเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคการเงินของประเทศ นอกเหนือธนาคารพาณิชย์ที่เราคุ้นเคยกัน

แม้ว่าประเทศไทยจะมีธนาคารพาณิชย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในด้านการเป็นผู้รับฝากเงินจากผู้ที่มีเงินออมและส่งต่อไปในรูปเงินให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงเป็นตัวกลางในระบบการชำระเงิน แต่ในระยะหลังธุรกิจการประกันทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย รวมทั้งธุรกิจหลักทรัพย์ก็เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

ในวันนี้ก็จะขอมาเล่าเกี่ยวกับการกำกับดูแลภาคการเงินที่สำคัญของประเทศทั้ง 3 ภาคดังกล่าว ในส่วนแรก คือภาคการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือที่เรามักจะเรียกกันอย่างคุ้นปากว่าแบงก์ชาติซึ่งได้จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2485 ถึงวันนี้ก็มีอายุถึง 68 ปีแล้ว

สำหรับภาคการเงินอีก 2 ภาคนั้นก็มีหน่วยงานกำกับดูแลแยกออกไป คือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือที่เราเรียกว่าสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2535 มีหน้าที่กำกับดูแลภาคธุรกิจหลักทรัพย์เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เป็นต้น

สำหรับภาคธุรกิจประกันภัยนั้น มีหน่วยงานกำกับดูแลน้องใหม่ที่เพิ่งมีการจัดตั้งในปี 2550 คือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.เป็นหน่วยงานที่แยกออกมาจากกรมการประกันภัยเดิมนั่นเอง มีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย

แม้ว่าภาคการเงินของเราทั้ง 3 ภาคนี้ จะมีหน่วยงานกำกับดูแลแยกออกจากกัน แต่ก็มีการประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งที่อยู่ในรูปแบบที่เป็นทางการคือการมีคณะกรรมการร่วม (Cross Directorship) คือการส่งผู้แทนจากหน่วยงานหนึ่งไปอยู่ในคณะกรรมการของอีกหน่วยงาน เช่นในกรณีของแบงก์ชาติก็จะมีคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินที่มีผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นประธานและกรรมการทั้งจากภายในและภายนอกซึ่งก็จะมีเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.และเลขาธิการ คปภ. เข้าร่วมด้วย ในส่วน ของคณะกรรมการของสำนักงาน ก.ล.ต. และ คปภ. ก็เช่นกัน จะมีผู้ว่าการแบงก์ชาติเข้าร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วยเป็นต้น

นอกจากความร่วมมือผ่านคณะกรรมการข้างต้นแล้ว ในระดับเจ้าหน้าที่ของทั้ง 3 หน่วยงานก็มีการประ สานงานกันเช่นกันทั้งการจัดสัมมนา ประชุมและอบรมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลการกำกับต่างๆเนื่องจากปัจจุบันการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันและบริษัทหลักทรัพย์ มีความเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้นระหว่างกันเช่น เราจะเห็นบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์หรือการเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คล้ายคลึงกัน เช่น บริษัทประกันก็มีการให้บริการด้านสินเชื่อหรือการที่ธนาคารพาณิชย์เป็นตัวแทนขายประกันหรือหน่วยลงทุนต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือดังกล่าวก็จะช่วยส่งเสริมแนวทางการกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ซึ่งจะทำให้กิจการที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกันจะอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับในระดับเดียวกัน ไม่ก่อให้เกิดการหาช่องโหว่จากหลักเกณฑ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน (Regulatory Arbitrage) ซึ่งผลดีก็จะส่งมาที่ผู้บริโภคนั้นเอง

ดังนั้น ท่านผู้อ่านคงอุ่นใจได้ว่าการลงทุนหรือการออมของท่านกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันหรือบริษัทหลักทรัพย์ ต่างก็มีหน่วยงานของทางการเข้ามากำกับดูแลเป็นอย่างดีค่ะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย