ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน
โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานครั้งสำคัญจาก “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4” แรงงานจำนวนมากต้องปรับตัว ดังนั้นการผลิต และพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเพื่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไทยต้องเร่งยกระดับคุณภาพทักษะแรงงาน เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะทำให้สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง
โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานครั้งสำคัญจาก “การ ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า และ “Smart Factory” ยุค 4.0 สามารถผลิตสินค้าหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าได้เป็นจำนวนมากในเวลาชั่วพริบตาเดียว
เทคโนโลยีถือเป็น Game Changer เพราะไม่เพียงส่งผลต่อกระบวนการผลิตสินค้า (How things are produced) แต่ยังส่งผลถึงแหล่งผลิตสินค้าด้วย (Where they are produced)
ในอย่างหลังเราเริ่มเห็นกระแสการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติกลับสู่ประเทศผู้ลงทุน เป็น ผลจากที่ประเทศพัฒนาแล้วสามารถใช้เทคโนโลยีทั้งหุ่นยนต์และระบบจักรกลอัตโนมัติแทนการพึ่งพา แรงงานราคาถูกในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสถาบัน McKinsey Global Institute ประมาณการว่าภายในปี 2030 แรงงานจำนวนกว่า 375 ล้านคนทั่วโลกอาจต้องเปลี่ยนอำชีพจากกระแสการเติบโตของการใช้ระบบจักรกลอัตโนมัติ(1)
นอกจากนี้ แรงงานในบางสาขาอาชีพอาจไม่มีอีกต่อไป เกิดความเสี่ยงของการถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันเวลา อาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันใน ศตวรรษที่ 21 ก็จะเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นมากมายเช่นกัน โดยจะเป็นงานที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้น การผลิตและพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้อง
1. ดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ จากมุมมองของผู้ประกอบการ
ผลการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ของโลก (Global Talent Competitiveness Index: GTCI) ล่าสุด ปี 2018 จัดทำโดยสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก INSEAD ในฝรั่งเศสร่วมกับกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ (ADECCO) และ บริษัท TATA Communications ที่ประเมินจากหลายมิติทั้งด้านการผลิต การดึงดูด และการรักษาคนเก่งไว้ในประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลเชิงนโยบายในการพัฒนากลยุทธ์การส่งเสริมความสามารถของประเทศให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้
GTCI สร้างจากข้อมูลสถิติสำคัญ 65 ตัวที่ได้จากรายงานของ OECD UNESCO แ ละ World Bank และอีกส่วนหนึ่งมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจต่างประเทศ มี 6 กรอบการประเมิน คือ 1. ปัจจัยส่งเสริมภายในประเทศ (Enable) พิจารณาจากสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ ด้าน การตลาดธุรกิจและแรงงาน 2. การดึงดูดแรงงาน (Attract) 3. การพัฒนาแรงงาน (Grow) พิจารณาเรื่องการศึกษาในระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเข้าถึงโอกาสที่จะเติบโต 4. การรักษาแรงงาน (Retain) 5. ทักษะสายวิชาชีพ (Vocational Skills) และ 6. ความรู้ความสามารถของแรงงาน (Global Knowledge Skills) พบว่าสวิตเซอร์แลนด์มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ สวีเดน ตามลำดับ ไทยอยู่อันดับที่ 70 จากทั้งหมด 119 ประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2017 ที่อันดับ 73(2)
จากผลการประเมินของ GTCI ไทยต้องเร่งพัฒนาในทุกด้าน โดยเฉพาะทักษะสายวิชาชีพ (อันดับที่ 89) โดยไทยยังมีปัญหาใหญ่เรื่องทักษะระดับกลางของแรงงาน (อันดับที่ 91) และความสามารถในการจ้างงาน (อันดับที่ 67)(3) ที่ผู้ประกอบการเห็นว่าระบบการศึกษาผลิตแรงงานออกมามีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของตลาดรวมถึงยังไม่ตอบโจทย์การแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ส่วน รายงาน World Economic Forum ปี 2017 ชี้ว่าในภาพรวมทุนมนุษย์ของไทยอยู่ในระดับปานกลาง (อันดับที่ 40 จาก 130 ประเทศ) แต่ไทยมี จุดอ่อนคือมีสัดส่วนการจ้างงานทักษะสูงเพียงร้อยละ 14 (อันดับที่ 93)(4) ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ไม่เอื้ออำนวย ทำให้การผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศเป็นไปได้ช้ำ
2. ดัชนีวัดทักษะของแรงงาน (PIAAC) จากมุมมอง ของแรงงาน
OECD จัดทำโครงการสำรวจทักษะของผู้ใหญ่ หรือ PIAAC: Programme for the International Assessment of Adult Competencies เพื่อวัดทักษะ การทำงานของประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 16-65 ปี ที่ประกอบอาชีพทั้งที่ใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่บ้าน ผู้ที่ทำงานในสำนักงานและสังคมทั่วไป สำรวจมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เป็นการวัดกระบวนการคิดและทักษะการทำงานที่จำเป็น โดยประเมินทักษะในการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานที่ซับซ้อน ประกอบด้วย 1.การอ่าน วัดความเข้าใจและจัดการกับข้อความที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและ การใช้ชีวิต 2.การคิดคำนวณ ความสามารถที่จะเข้าถึง ใช้และสื่อสารข้อมูลทางคณิตศาสตร์ และ 3. การแก้ปัญหาจากการใช้เทคโนโลยี ความสามารถในการใช้เครือข่ายและเครื่องมือสื่อสารเทคโนโลยีดิจิทัล
ผลสำรวจ PIAAC ล่าสุดพบว่า ผู้ที่ได้คะแนนทักษะสูงมีโอกาสจะได้รับการจ้างงานสูงกว่าผู้ที่มีคะแนนทักษะต่ำถึง 2 เท่า และยังมีโอกาสได้รับค่าจ้างสูงกว่าถึง 3 เท่า(5) ประเทศที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ ญี่ปุ่นและฟินแลนด์ โดยเฉพาะทักษะการอ่านและการคิดคำนวณซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้
โดยผลการสำรวจทักษะด้านการอ่าน พบว่าร้อยละ 20 ของแรงงานชาวญี่ปุ่นและฟินแลนด์ได้คะแนนการอ่านอยู่ในระดับสูง(6) คือสามารถอ่าน รวบรวม ตีความ และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในงานได้ดี ในปัจจุบันไทยยังไม่เข้าร่วมการวัดประเมินทักษะวัยแรงงาน แต่การที่แรงงานกลุ่มใหญ่กว่า 25 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อย 70 ของแรงงานทั้งหมดมีระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า ทำให้มีความจำเป็นอย่างมากที่ไทยต้องเร่งยกระดับคุณภาพทักษะแรงงาน เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ
ประเทศที่เข้าร่วมได้ประโยชน์อะไรจากการสำรวจนี้? เนื่องจากผลสำรวจนี้ช่วยชี้เป้าให้ผู้กำหนดนโยบายรู้ว่าควรปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาไปในทิศทางใด เพื่อเติมเต็มทักษะที่จำเป็นให้กับแรงงานกลุ่มต่างๆ รวมถึงสร้างคนและสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ และงานนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้ทักษะสูงขึ้น
3. บทเรียนจากต่างประเทศ: มองโลก มองเรา
ตัวอย่างประเทศที่นำผลสำรวจไปใช้พัฒนาทุนมนุษย์(7) กรณีอังกฤษ จากผลสำรวจ PIAAC รัฐบาลอังกฤษได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษา โดยเน้นพัฒนาทักษะอำชีพให้แก่เยาวชนและประชากร วัยแรงงาน เช่น ยกระดับการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับอำชีพผ่านการฝึกงาน สร้างหลักสูตรออนไลน์ในที่ทำงานหรือในชุมชน ที่เอื้อให้ประชากรวัยแรงงานสามารถเลือกศึกษาต่อเพิ่มเติม ในสาขาวิชาที่เหมาะสมกับอาชีพและความถนัดของตนเอง
กรณีญี่ปุ่น สถาบันวิจัยนโยบายด้านการศึกษาแห่งชำติ นำผลสำรวจ PIAAC ไปพัฒนานโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาทักษะความสามารถของแรงงาน เช่น การพัฒนาทักษะด้าน ICT แก่กลุ่มแรงงานผู้ใหญ่ การพัฒนาระบบการจัดการที่เชื่อมโยงทักษะแรงงาน รายได้และการจ้างงาน และกรณีสโลวาเกีย ซึ่งอยู่ ระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เพิ่มเติมประเด็นการลงทุนภาครัฐด้านการศึกษาของแรงงานวัยผู้ใหญ่
ในกรณีของไทย การพัฒนำทักษะกำลังคนในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว คงไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งในระดับประเทศ บริษัทและ ลูกจ้าง โดยไทยต้องเร่งปฏิรูประบบการศึกษาที่เน้นการเรียนผ่านการทำโครงการและประสบการณ์เรียนรู้ มากกว่าแบบเดิมที่เน้นท่องจำ
บริษัทต้องลงทุนยกระดับฝีมือแรงงานเดิมและ ฝึกงานแก่คนรุ่นใหม่ ส่งเสริมความเป็นอิสระและความร่วมมือมากกว่าการสั่งการแนวดิ่ง เพื่อให้เกิดวัตกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และ ลูกจ้างก็ต้องพัฒนาตนเองและพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล ดังคำกล่าวของ John Dewey นักปรัชญาทางการศึกษาของโลก ที่ว่า “Education is not preparation for life; education is life itself.”
------------------------------------------------------
Endnotes:
1. Jeremy Auger, “The Future of Work and Learning: In the Age of the 4th Industrial Revolution,” D2L, January 22, 2018, https://assets.d2l.
com/wp-content/uploads/2018/01/The-Future-of- Work-and-Learning- D2L.pdf?_ga=2.163514492.1520692998.1517471129 -2125407906.1516881343.
2. Bruno Lanvin, & Paul Evans, The Global Talent Competitiveness Index 2018: Diversity for Competitiveness (Fontainbleu: INSEAD, the Addecco Group, and Tata Communications, 2018), 1-342.
3. Ibid., 220.
4. World Economic Forum, The Global Human Capital Report 2017 (Geneva, 2017), http://www3.weforum.org/docs/WEF_Global_Human _Capital_Report_2017.pdf.
5. OECD, Skilled For Life? Key Findings from the Survey of Adult Skills (Paris, 2013), http://www.oecd.org/skills/piaac/SkillsOutlook_2013_ ebook.pdf.
6. Ibid., 8.
7. Rosa Falgas. “What we did with PIAAC-advocates at work,” Elm Magazine, no. 1 (2014), http://elmmagazine.eu.