นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน จากบทความที่ผู้เขียนได้เขียนไปครั้งก่อนว่า “ทำไมถึงต้องมี Basel III” ที่ได้เล่าถึงวิกฤตการณ์ทางการเงินทั้งในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นผลทำให้ผู้กำกับดูแลภาคการเงินในประเทศต่างๆ เห็นถึงความจำเป็นในการทบทวนแนวคิดการกำกับดูแลระบบการเงินในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์ Basel III
ขอทบทวนอีกครั้งว่า เกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนที่เรียกว่า Basel Capital Accord หรือที่เรียกว่า Basel นั้น ออกโดย Basel Committee on Banking Supervision ซึ่งก็คือคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีสำนักงานอยู่ที่ The Bank for International Settlements (BIS) ในเมือง Basel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เป็นสากลเพื่อความมั่นคงและความเสมอภาคในการแข่งขันของสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลกโดย BCBS ออกเกณฑ์ Basel I เมื่อปี 2531 และปรับแก้ไขในชุดของ Basel II ในปี 2547 และในปี 2553 ก็ได้ออกแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์อีกครั้งซึ่งเรียกว่า Basel III

หลักเกณฑ์ที่เป็นหัวใจสำคัญของเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องเงินกองทุนนี้คือการกำหนด “อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง” หรือที่เราเรียกว่า Capital Adequacy Ratio (CAR Ratio) หรือ “BIS Ratio” ซึ่งคำนวณจากเงินกองทุนหารด้วยสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ โดยเงินกองทุนก็เปรียบเสมือนกับส่วนของเจ้าของในงบดุลและสินทรัพย์เสี่ยงก็คือสินทรัพย์ที่อยู่ในงบดุลเช่นกัน แต่ในการคำนวณอัตราส่วนนี้สินทรัพย์แต่ละตัวจะมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น เงินสดมีความเสี่ยงเป็นศูนย์ก็ไม่ต้องมีทุนรองรับ ในขณะนี้เงินให้สินเชื่อจะมีความเสี่ยงตามอันดับความน่าเชื่อถือของลูกหนี้แต่ละราย โดยที่ผ่านมา BCBS กำหนดอัตราส่วน BIS Ratio ไว้ที่ 8% ส่วนกรณีของประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 8.5 % หมายความว่า ทุกๆ สินทรัพย์เสี่ยง 100 บาท ที่ธนาคารพาณิชย์มี เช่น ลูกหนี้เงินให้สินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ไทยจะต้องมีเงินกองทุนรองรับไม่ต่ำกว่า 8.50 บาท

ในส่วนของ Basel III นั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ให้สามารถต้านทานต่อภาวะวิกฤตในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น พร้อมทั้งลดการส่งต่อความเสี่ยงจากระบบการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริง โดย Basel III จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ซึ่งสามารถสรุปหลักการที่สำคัญ คือ

(1) การดำรงเงินกองทุนจากการเกิดวิกฤติสถาบันการเงินในต่างประเทศที่พบว่าเงินกองทุนที่มีอยู่มีปริมาณและคุณภาพไม่เพียงพอ ทำให้ BCBS ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนซึ่งจากวิธีการหรือสูตรการคำนวณการดำรงเงินกองทุนนั้น BCBS ได้เพิ่มความเข้มงวดทั้งตัวตั้งและตัวหารของ BIS Ratio ข้างต้น กล่าวคือในส่วนของตัวตั้งคือเงินกองทุน ได้เพิ่มคุณภาพของเงินกองทุนเพื่อให้สามารถรองรับผลขาดทุนได้อย่างแท้จริง โดยกำหนดให้องค์ประกอบหลักของเงินกองทุนจะต้องมาจากการออกขายหุ้นสามัญ ตลอดจนการเสริมสร้างกำไรสะสมจากการดำเนินธุรกิจหรือที่เรียกว่า Common Equity (CE) ซึ่งถือเป็นเงินกองทุนที่มีคุณภาพสูงสุด และการปรับเพิ่มปริมาณเงินกองทุนขั้นต่ำ โดยกำหนด CE Ratio ที่ 4.5% และเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นเงินกองทุนที่มีคุณภาพรองลงมาจาก CE ที่ 6% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนรวมยังคงเดิมที่ 8%

สำหรับในส่วนของตัวหารคือสินทรัพย์เสี่ยง ก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อให้สามารถครอบคลุมถึงความเสี่ยงของธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น เช่น เพิ่มเงินกองทุนขั้นต่ำสำหรับธุรกรรม Securitization ที่มีความซับซ้อน เป็นต้น

(2) การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เนื่องจากแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีเงินกองทุนสูงแต่ก็ยังอาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องจนกระทบต่อฐานะและความมั่นคงได BCBS จึงได้มีการเพิ่มหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงอัตราส่วนเพิ่มเติมเพื่อชี้วัดว่าธนาคารพาณิชย์มีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอรองรับภาวะวิกฤตหรือไม่ เช่น สินทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่นั้น จะมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะแปลงเป็นเงินสดได้ทันเวลาหรือไม่ โดยสินทรัพย์ที่ถือว่ามีสภาพคล่องสูงสุดคือเงินสดและพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น และโครงสร้างแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงเพียงพอหรือไม่ เช่น การมีแหล่งเงินทุนระยะยาวเพียงพอที่จะใช้ในการปล่อยสินเชื่อระยะยาวหรือไม่

(3) การเพิ่มมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินของโลก (Global Systemically Important Financial Institutions (G-SIFIs)) สืบเนื่องจากวิกฤติที่ผ่านมาเช่นกัน BCBS เห็นว่าสถาบันการเงินที่ใหญ่มากเมื่อเกิดปัญหาจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจ จึงมีมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินเหล่านี้ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เช่น ต้องดำรงเงินกองทุนสูงกว่าปกติ เป็นต้น

ทั้งนี้ BCBS ได้กำหนดให้หลักเกณฑ์ต่างๆ ทยอยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2556 โดยจะมีผลเต็มรูปแบบในปี 2562 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีเวลาในการเตรียมความพร้อม สำหรับประเทศไทย การนำ Basel III มาใช้ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับระบบธนาคารพาณิชย์และสภาพแวดล้อมทางการเงินในประเทศไทยต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย