นางสาวจุฑาพร เอลิซาเบธ เกตุราทร
เศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ได้สร้างความท้าทายให้กับบรรดานักเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ปัญหาเชิงโครงสร้างและหนี้สาธารณะที่เรื้อรังในกลุ่มประเทศยูโร ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในญี่ปุ่นนับทศวรรษ ทำให้บรรดาธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนเข้าใกล้ศูนย์ และขยายงบดุลผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ Quantitative Easing (QE) ของสหรัฐฯ มาตรการ Outright Monetary Transactions (OMTs) ของยุโรป และมาตรการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Asset Purchase Program) ของญี่ปุ่นและอังกฤษนับว่าเป็นการคิดออกนอกกรอบ และทฤษฎีเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
เมื่อมาตรการดังกล่าวดูเหมือนจะไร้ผล นักวิชาการบางคนก็เลยเถิดคิดไปว่า กรอบการดำเนินนโยบายเดิมที่ยึดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) อาจไม่เหมาะสม ควรเปลี่ยนกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน โดยหันไปใชเ้ป้าหมายเป็น Nominal GDP (NGDP Targeting) หรือไม่ โดยกรอบ NGDP Targeting คือ การตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวของ NGDP ให้เท่ากับค่าเฉลี่ยระยะยาวของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP) บวกกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลาง ยกตัวอย่างเช่น เป้าการขยายตัวของ NGDP เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี หากอัตราการขยายตัวของ NGDP ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในปีหนึ่ง ซึ่งทำให้ระดับของ NGDP ต่ำกว่าเป้า (Target path) การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องชดเชยการพลาดเป้าที่เกิดขึ้นนี้ โดยการกระตุ้นให้ NGDP ขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 5 จนกว่าระดับของ NGDP จะกลับไปที่เป้าเดิม คนที่เสนอกรอบความคิดนี้ก็คาดเดาว่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าในปัจจุบัน
แท้จริงแนวคิดเรื่อง การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบ NGDP Targeting มีมานานหลายสิบปีแล้ว หากแต่ล่าสุดมีการพูดถึงมากขึ้นในวงการธนาคารกลางเพราะประเทศเหล่านี้เริ่มพบทางตัน แนวนโยบายก็ใช้มาหมดแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผล อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีธนาคารกลางใดนำกรอบนี้ไปใช้จริง เนื่องจากมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติหลายประการ ดังนี้ 1) การประเมินค่าเฉลี่ยระยะยาวของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นทำได้ยาก 2) เป้าหมายของกรอบเองขาดความชัดเจน เนื่องจากเป็นส่วนผสมของทั้ง GDP และเงินเฟ้อ ส่งผลให้การสื่อสารต่อสาธารณชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการชี้แจงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนได้ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการประเมินต้นทุนของภาคเอกชนอีกด้วย 3) การประกาศข้อมูล NGDP มีความถี่ต่ำ (รายไตรมาส) และค่อนข้างล่าช้า ส่งผลให้การปรับแนวทางการดำเนินนโยบายให้เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจอาจไม่สามารถทำได้ทันท่วงที
หันกลับมามองความเหมาะสมของกรอบ NGDP Targeting กับประเทศไทย หากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศหลักกับไทยในปัจจุบันแล้ว พบว่ามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงโดยประเทศหลักกำลังตกอยู่ในกับดักของเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การว่างงานสูง ในขณะที่ประเทศไทยอุปสงค์ยังเข้มแข็ง และการว่างงานใกล้ศูนย์ กอปรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีพื้นที่ (room) ไว้ใช้ในยามจำเป็น หากเกิดกรณีเลวร้ายขึ้น ดังนั้น การพูดถึงการเปลี่ยนเป้าในระยะนี้อาจยังไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากอาจทำให้สาธารณชนตีความไปในทางที่ว่า เราจะใช้เป็นข้ออ้างในการผ่อนคลายนโยบายมากขึ้น
ทั้งนี้ การที่จะเปลี่ยนกรอบนโยบาย ไปสู่กรอบที่ยังไม่เคยนำไปใช้จริง มีความเสี่ยงในทางปฏิบัติ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting: FIT) เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่สูงนัก รวมทั้งยังช่วยรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ดีระดับหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าอย่างน้อย กรอบ FIT มีความเหมาะสมกับโครงสร้าง และภาวะทางเศรษฐกิจของไทย โดยมีความยืดหยุ่น และมีความชัดเจนโปร่งใส ทำให้การสื่อสารต่อสาธารณชนทำได้ง่าย ที่สำคัญ ภายใต้กรอบดังกล่าวสามารถใช้ผสมผสานกับเครื่องมือทางนโยบายอื่นๆ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการกำกับดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินเชิงระบบ (Macro-prudential) ได้
การนำกรอบใหม่มาใช้ในขณะที่ตัวกรอบเองก็ยังขาดความชัดเจน อีกทั้งในทางปฏิบัติยังไม่เคยใช้ในประเทศใดๆ มาก่อน จะสร้างความไม่แน่นอนให้แก่ภาคเอกชนในการคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนในอนาคต เป็นการเพิ่มต้นทุนของความไม่แน่นอนให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย