นางสาวเพชรินทร์ หงส์วัฒนกุล
นางสาวรังสิมา บุญธาทิพย์
ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด จนในบางครั้งประชาชนอย่างเรา ๆ ท่านๆ ก็ไม่สามารถที่จะติดตาม ทำความรู้จักและเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกประดิษฐ์ คิดค้นขึ้นมาใหม่ได้ทันไปทั้งหมด และนั่นก็คงจะรวมไปถึงนวัตกรรมการชำระเงินล่าสุดที่ได้รับการพูดถึงอย่างหนาหูในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเรียกว่า “Bitcoin” ด้วยเช่นกัน
Bitcoin คือ หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นจากกลไกทางคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบุคคลลึกลับ (ปัจจุบันเชื่อกันว่าคือ Mr. Satoshi Nakamoto) จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกกันว่า เงินดิจิตอล (Digital money) หรือ เงินเสมือนจริง (Virtual currency) ซึ่ง Bitcoin เริ่มถูกนำมาใช้ในปี 2552 โดยคนกลุ่มหนึ่งเพื่อการชำระ หรือโอนและแลกเปลี่ยนกันเฉพาะเครือข่ายในโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการใช้คำว่า “เงิน” แต่เงินดิจิตอลนี้ไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่มีมูลค่าในตัวเอง มูลค่าที่เกิดขึ้นเกิดจากความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเอง ดังนั้นมูลค่าจึงเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและอาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าได้เมื่อไม่มีความต้องการแล้ว ตัวอย่างเช่น ร้านค้าที่รับชำระด้วยเงินดิจิตอลหากมีความจำเป็นต้องการใช้เงิน ก็ต้องนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลต่าง ๆ เช่นดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือแม้แต่เงินบาทเสียก่อน และอัตราที่แลกเปลี่ยนก็ไม่แน่นอน มูลค่าที่ได้รับอาจจะมากกว่า น้อยกว่า หรือไม่มีมูลค่าเลยเมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่ขายไป ดังนั้นเงินดิจิตอลจึงเป็นเพียงแค่หน่วยอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในบทความนี้จะขอใช้คำว่าเงินดิจิตอลไปก่อน
เงินดิจิตอล ฟังดูเผิน ๆ อาจจะคล้ายกับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) แต่ความจริงแล้ว แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดย e-Money เช่น บัตรที่ใช้ในศูนย์อาหาร บัตรโดยสารรถไฟฟ้า หรือการใช้ e-Money ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีการให้บริการอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นบริการทางการชำระเงินที่ประชาชนนำเงินจริงมาชำระไว้ล่วงหน้าให้แก่ผู้ให้บริการ และมีการบันทึกมูลค่าหรือจำนวนเงินไว้แน่นอนและผู้ให้บริการจะรับผิดชอบต่อ e-Money ดังกล่าวตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งเงินคงเหลือที่ถูกบันทึกอยู่ในสื่อต่าง ๆ ยังเป็นของผู้ใช้บริการตามมูลค่าเงินนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ต่างจาก Bitcoin ที่เป็นเพียงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีการกำหนดมูลค่ากันเองภายในกลุ่ม
การที่จะได้มาซึ่ง Bitcoin นั้น ผู้เล่น หรือ “Miners” ต้องแก้ปัญหาโจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนและมีความยากขึ้นเรื่อย ๆ แปรผันตามจำนวน Bitcoin ที่ออกไปสู่ระบบ ซึ่งการแก้โจทย์ที่ว่านั้นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพสูงมาก โดยหากแก้โจทย์ได้จะได้รับ Bitcoin เป็นผลตอบแทน ซึ่งจะลดลงกึ่งหนึ่ง ทุก ๆ 4 ปี เช่น ถ้าในช่วงปี 2552-2556 ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวน 50 Bitcoin ในสี่ปีถัดไปจะได้รับ
Bitcoin เพียง 25 หน่วยหากแก้โจทย์สำเร็จ โดยจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนคาดว่าในที่สุด Bitcoin ในระบบจะมีจำนวนเท่ากับ 21 ล้านหน่วย
แต่ถ้าเห็นว่าการเป็น Miners ช่างยุ่งยาก วุ่นวาย คุณก็อาจรับโอนหรือซื้อ Bitcoin จากผู้ที่ถือครองได้ โดยต้องลงโปรแกรม Bitcoin Wallet บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งโปรแกรมจะสร้างที่อยู่ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเลขที่บัญชี เพื่อการจัดเก็บ Bticoin
อย่างไรก็ดี ในระยะที่ผ่านมาเริ่มมีการนำเงินดิจิตอลอย่าง Bitcoin มาใช้เพื่อซื้อสินค้าและบริการจริงจากร้านค้าออนไลน์และร้านค้าทั่วไป เช่น เว็บไซต์ Overstock.com ของสหรัฐอเมริกา ร้านค้าออนไลน์ขนาดใหญ่แห่งแรกที่เปิดรับการจ่ายเงินด้วย Bitcoin รวมถึง ร้านอาหาร โรงแรม บางเห่งเป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการนำ Bitcoin ไปแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินจริงและมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกันเองภายในเครือข่าย
ด้วยเหตุนี้เอง Bitcoin จึงกลายเป็นเป็นช่องทางการเก็งกำไรรูปแบบใหม่ที่เย้ายวนให้นักเก็งกำไรหันมาให้ความสนใจใน Bitcoin เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ...แต่แน่นอนว่า ผลตอบแทนย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง!
ความเสี่ยงประการแรก คือ แม้จะมีคำว่า “Currency” เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ Bitcoin ไม่ถือว่าเป็นเงินตราตามกฎหมายที่ได้รับการรับรองจากทางการ จึงไม่ได้รับการคุ้มครองและไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายการซื้อขายแลกเปลี่ยนถือเป็นข้อตกลงร่วมกันเองระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และหากเกิดปัญหา การฟ้องร้องอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการทำธุรกรรม Bitcoin นั้น ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของคู่ค้าผู้ทำธุรกรรม เช่น ชื่อ ที่อยู่ ประวัติการทำธุรกรรม และไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนในการใช้บริการ
ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ มูลค่าของ Bitcoin จะมีความผันผวนอย่างมาก เพราะอัตราแลกเปลี่ยนของ Bitcoin จะผันแปรไปตามความต้องการซื้อและขาย ณ ช่วงเวลานั้น ๆ โดยในช่วงเริ่มต้นมูลค่าของ Bitcoin คิดเป็นเพียงไม่กี่เซนต์ แต่ก็ปรับตัวสูงขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ในปีที่ผ่านมา โดยพุ่งจนเกือบเท่าทองคำเพียงในระยะเวลาอันสั้น จนถึงจุดสูงสุดประมาณ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 Bitcoin ก่อนจะตกลงมาเหลือประมาณ 850 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายในวันเดียว เมื่อธนาคารกลางประเทศจีนสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการรับชำระเงินยุ่งเกี่ยวกับ Bitcoin ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย Bitcoin หรือการให้บริการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Bitcoin ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ปัจจุบัน Bitcoin มีราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 450-500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 Bitcoin โดยมูลค่าที่ผันผวนนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของผู้ถือครอง Bitcoin และหากมูลค่า Bitcoin ลดลงหรือเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจไปถึงจุดที่เกิดการล่มสลาย ทำให้ Bitcion ที่ถือครองอยู่ไม่มีมูลค่าพื้นฐานใดเลยก็เป็นได้
นอกจากนี้ Bitcoin ยังมีความเสี่ยงจากการสูญหายได้ เนื่องจากถูกจัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตของผู้ถือครอง ซึ่งมีความเสี่ยงจากการที่เครื่องสูญหาย หรือถูกโจรกรรมข้อมูล โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บริษัท Mt.Gox ตลาดค้า Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดซึ่งตั้งอยู่ในญี่ปุ่นได้ยื่นขอล้มละลายเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่บริษัทอ้างว่าถูกโจรกรรมข้อมูล และสูญเสีย Bitcoin มูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยสรุปแล้ว Bitcoin ถือเป็นนวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อน หากต้องการจะถือครอง Bitcoin หรือ ระบบ Digital/Virtual currency อื่น ๆ ในลักษณะดังกล่าว คุณควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น “ความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้น....
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย