ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน


ช่วงเดือนตุลาคม 2563 มีการเปิดตัวโมเดลพันธมิตรทางธุรกิจแบบ Social banking อย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทย ภายใต้ชื่อ “Line BK” ที่เป็นการจับมือกันระหว่างธนาคารสีเขียวกับแอพลิเคชั่นแชทยอดนิยมของคนไทย เพื่อให้บริการธนาคารออนไลน์เต็มรูปแบบบนแอพโซเชียลมีเดีย วันนี้เลยอยากชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ Social banking ให้มากขึ้นค่ะ และชวนคิดต่อว่าดีหรือไม่ที่มีธนาคารอยู่ใกล้ตัว


Social banking คืออะไรในโลกการเงินดิจิทัล

Social banking คือบริการธนาคารออนไลน์บนแอพโซเชียลมีเดีย เป็นโมเดลธุรกิจที่ธนาคารจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมหาศาล ความร่วมมือระหว่างธนาคารกับ Super app ชั้นนำที่มีทุกอย่างครบในแอพเดียว จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในระยะยาวให้ธนาคารจากการแชร์ข้อมูลกับพันธมิตร ทำให้ Social banking สามารถให้บริการทางการเงินกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารเพราะไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือกู้ไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ เมื่อ Social banking มีข้อมูลใหม่ด้านอื่นมาเสริม ก็จะช่วยให้ธุรกิจนี้เสนอบริการทางการเงินต่างๆ ได้ถูกที่ ถูกเวลา ตรงความต้องการและศักยภาพของลูกค้าได้ดีขึ้น


การจับมือกันแบบ win-win

ในปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคคุ้นเคยกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ใช้เวลาบนโลกโซเชียลนานขึ้น ชอบความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมการเงินดิจิทัลได้ครบในแอพเดียว คนมีทางเลือกมากขึ้นจากบรรดาแพลตฟอร์มธุรกิจเทคโนโลยีที่นำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายเชื่อมกับแอพในโลกโซเชียล จึงเข้ามาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าวงกว้างกว่า ใช้สะดวกกว่า ผลิตภัณฑ์น่าใช้และโดนใจกว่า เพราะได้ทำความรู้จักพฤติกรรมลูกค้าเชิงลึกจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาเป็นอย่างดี ธนาคารจึงต้องเร่งปรับตัวให้เข้าไปอยู่บน Super app ที่รวมทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าให้ใช้บริการการเงินได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อไม่ให้ถูกดิสรัปต์ลดบทบาทลงไป

ธุรกิจแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียก็อาศัยจุดแข็งของธนาคารด้านบริการทางการเงินดิจิทัลเต็มรูปแบบและความไว้เนื้อเชื่อใจที่ลูกค้ามีให้กับธนาคาร มาเสริมจุดแข็งของตัวเองที่เข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้งานบนเครือข่ายจำนวนมหาศาล และเก่งในการออกแบบแอพให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน ให้ทำทุกอย่างได้ในแอพ ไม่ว่าจะเป็นการแชท-ช้อป-บันเทิง-สั่งอาหาร-ส่งของ-เรียกรถ ไปจนถึงการโอน-ออม-ยืม-จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่มีรายได้ประจำที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคาร โดยจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานแอพแต่ละรายเชิงลึก เพื่อคำนวณคะแนนเครดิตของผู้ใช้แอพแต่ละคนด้วยระบบประมวลผลแบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) ทำให้รู้ถึงความเสี่ยงในการกู้เงินและความสามารถในการชำระคืนเงินได้ง่าย


ผู้บริโภคได้ประสบการณ์ตอบโจทย์ดีขึ้น

ผู้บริโภคก็จะได้รับความสะดวกสบายขึ้น ไม่ต้องออกจากโซเชียลแพลตฟอร์มที่กำลังใช้งานอยู่ไปเข้าแอพ mobile banking ของธนาคารโดยตรงเพื่อทำธุรกรรมการเงิน แต่สามารถใช้บริการธนาคารเต็มรูปแบบได้ใน Super app เลย ทำให้ได้รับประสบการณ์การใช้บริการที่ตอบโจทย์กว่า คนที่อยากกู้เงินก็เข้าถึงแหล่งเงินกู้ง่ายขึ้น ช่วยลดการกู้นอกระบบดอกเบี้ยแพงมาก แถมยังเสี่ยงต่อการถูกติดตามทวงหนี้ที่อาจไม่ค่อยปลอดภัยได้อีกด้วย ซึ่งจากการเปิดเผยข้อมูลของผู้บริหารบริษัทพันธมิตรของ “ไลน์ BK” พบว่า สัดส่วนคนไทย 63% ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคารหรือเข้าถึงแค่ผิวเผิน (45% เข้าถึงแต่ใช้บริการทางการเงินแค่ผิวเผิน หรือเป็นกลุ่ม underbanked ที่มีบัญชีเงินฝาก แต่เข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์อื่น และอีก 18% ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือเป็นกลุ่ม unbanked) และมีแค่ 37% เท่านั้นที่เข้าถึงและใช้บริการธุรกรรมทางการเงินเต็มรูปแบบ เช่น เปิดบัญชีเงินฝาก มีบัตรเครดิต ทำประกัน ซื้อกองทุน ซึ่งกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงธนาคารได้ไม่มากนี้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักบนฐานลูกค้าไลน์กว่า 47 ล้านราย ซึ่งใช้เวลาบนแอพเฉลี่ย 67 นาทีต่อวัน


ถึงชีวิตจะง่ายขึ้น ความรู้และวินัยทางการเงินยังเป็นสิ่งสำคัญ

แม้ Social banking จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นในโลกดิจิทัล แต่ความรู้ทางการเงินและวินัยทางการเงินของผู้บริโภคก็ยังเป็นหัวใจสำคัญอยู่ดี หากมองในมุมที่ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินง่ายขึ้น แบงก์ปรับตัวให้บริการธนาคารเชิงรุกขึ้น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่อยอดโมเดลธุรกิจเชื่อมโยงกับบริการธนาคาร ช่วยให้คนในประเทศลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินหรือต้นทุนการกู้เงินได้ ก็ดูเหมือนจะวิน-วินกันทุกฝ่าย แต่หากมองอีกด้าน ธรรมาภิบาลในการวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคลที่ทำให้กลุ่มธุรกิจรู้จักตัวตนของคนๆ หนึ่งได้ดีกว่าเจ้าตัว จะเป็นสิ่งสำคัญมาก การนำเทคโนโลยี AI มาใช้เน้นนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล หรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกจริตโดนใจผู้ใช้แอพบ่อยๆ ก็คล้ายกับเราดูโฆษณาขายของในทีวีซ้ำไปซ้ำมาทั้งวัน จนสุดท้ายก็อาจมีผลเปลี่ยนพฤติกรรมเราให้ใช้จ่ายเพลินหรือยืมเงินไว จนก่อหนี้เกินตัวโดยไม่รู้ตัวได้

ไม่ว่าจะเราเป็นผู้ใช้แอพโซเชียลมีเดียหรือลูกค้าธนาคาร ก็จำเป็นต้องเท่าทันกระแส Social banking ที่กำลังมาแรงในไทยนี้กันค่ะ เพราะเหรียญมีสองด้านเสมอ โดยไม่ลืมว่าทุกการเคลื่อนไหวบน Super app จะทิ้งร่องรอยข้อมูลล้ำค่าให้ธุรกิจต่างๆ บนโลกโซเชียลที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน หากการใช้จ่าย/กู้ยืมที่เคยเป็นเรื่องใหญ่ แบบที่ต้องคิดแล้วคิดอีก สามารถทำได้ง่ายขึ้นบนโลกโซเชียล ในทางกลับกันการใช้จ่าย/กู้ยืมที่อาจไม่จำเป็นจริงๆ แบบที่กดปุ่มตกลงไปไม่ทันได้คิดดีๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ง่ายบนโลกโซเชียลเช่นกันค่ะ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>