นางสาวภาวนิศร์ ชัววัลลี
นางสาวกฤษณี พิสิฐศุภกุล
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554ราคายางไทยเคยแตะระดับสูดสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยราคา 174.44 บาทต่อกิโลกรัม แต่หลังจากนั้นกลับมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2557 ราคายางดิ่งลงเหลือ 53.63 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี และเป็นราคาที่ตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ระดับ 64.90 บาทต่อกิโลกรัม (1) ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบันว่าทำไมราคายางพาราจึงตกต่ำ? ซึ่งสาเหตุหลักที่กระทบให้ราคายางตกต่ำอย่างรุนแรง ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ในช่วง 2-3 ปีเศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศกลุ่ม G3 ประกอบกับเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคยางอันดับ 1 ของโลก โดยเป็นฐานการผลิตล้อยางของบริษัทชั้นนำของโลก และเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเติบโตในระดับสูงมาตลอด แต่เริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 ปีนี้ ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางของโลกอยู่ในระดับต่ำ โดยในช่วงปี 2554-2556 ความต้องการใช้ยางโลกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.9 ในขณะที่ผลผลิตยางโลกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.1
2. สต็อกยางจีน ณ เมืองชิงเต่าและสต็อกยางไทยอยู่ในระดับสูง ชิงเต่าเป็นเมืองที่มีการนำเข้ายางมากที่สุดเพื่อผลิตล้อยาง ที่ผ่านมาพบว่าสต็อกยางชิงเต่าเร่งตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2556 เนื่องจากการเร่งนำเข้าในช่วงงดเก็บเงินสงเคราะห์ (CESS) ซึ่งเป็นเงินที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เรียกเก็บจากผู้ส่งออกยาง และการนำเข้ายางของเทรดเดอร์จีนที่สูงเกินความต้องการใช้จริง เพื่อทำกำไรการค้ายางจากวิธีการซื้อขายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน โดยสต็อกยาง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 249,600 ตัน ขณะเดียวกันสต็อกยางไทยใน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557อยู่ที่ 374,527 ตัน ซึ่งสูงกว่าระดับปกติที่เคยอยู่ประมาณ 2 แสนตัน
3. ราคาชี้นำในตลาดล่วงหน้าของโลกลดลง ราคายางในตลาดล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) และตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ (SICOM) อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลกับปัญหาผลผลิตส่วนเกิน (Oversupply) และสต็อกยางที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ความต้องการใช้ยางอยู่ในช่วงชะลอตัว และยังไม่มีปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากนักทำให้คาดการณ์ราคายางอนาคตปรับตัวลดลง
คำถาม คือ ราคายางในอนาคตมีทิศทางอย่างไร? สำหรับแนวโน้มราคายางไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2557 คาดว่าราคาจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบันไม่มากนัก จากสต็อกยางของจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา และไทยมีการจัดการสต็อกยางที่ชัดเจนประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง ผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาดมากจะเป็นปัจจัยกดดันราคายาง โดยแนวโน้มราคาเฉลี่ยทั้งปี 2557 จะเคลื่อนไหวในช่วง 60-70 บาทต่อกิโลกรัม
ในระยะยาวอีก 2-3ปีข้างหน้า โอกาสที่ราคายางจะกลับมาหวือหวาดังเช่นในปี 2554 นั้นคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังมีมากกว่าความต้องการใช้ส่งผลให้สต็อกยางโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคายางที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประเทศต่างๆ ขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนและกลุ่ม CLMV
สำหรับการแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืนควรทำอย่างไร? เพื่อให้สามารถรับมือเมื่อเจอกับสถานการณ์ราคายางตกได้ ในการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องมองย้อนกลับไปดูที่ปัญหาของตลาดยางพาราไทยคืออะไร คำตอบที่แน่ชัด คือ การมุ่งส่งออกสินค้ายางขั้นต้นมากเกินไปทำให้ต้องพึ่งพิงความต้องการใช้ยางจากตลาดโลกเป็นหลัก ดังนั้น ทางแก้คือ 1) เพิ่มความต้องการใช้ยางธรรมชาติในประเทศแทนการส่งออก โดยสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ล้อยาง ถนนลาดยาง พื้นสนามกีฬา เป็นต้น ซึ่งใช้ยางแท่งและยางแผ่นรมควันเป็นวัตถุดิบหลัก 2) ส่งเสริม R&D เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพารา โดยส่งออกเป็นEnd products ที่มี Value added เพิ่มขึ้นและมีลักษณะเป็น Green products ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนราคาสินค้าเกษตร และ 3) การบริหารจัดการด้าน Supply เช่น จำกัดการขยายพื้นที่ปลูกยาง เน้นเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yield) บริหารจัดการสต็อก เป็นต้น
---------------------------------------------
1) ต้นทุนการผลิตยางทั้งประเทศปี 2557 จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย