​เศรษฐกิจกับภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกันด้วยหรือ?

นายสุพริศร์ สุวรรณิก
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

มลภิษหมอภภวัภภาภ๠หภือ: ๠ภ๠อย๠าภ๠ร๠ห๠ยั๠ภยืภ?

ปัจจุบัน สถานการณ์ไฟป่าในแอมะซอน พื้นที่ซึ่งเปรียบเสมือน “ปอดของโลก” ยังอยู่ในขั้นวิกฤต ไฟป่ายังคงลุกลามในหลายพื้นที่ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย นักวิเคราะห์หลายสำนักเปิดเผยต้นเหตุของไฟป่าครั้งนี้ว่า มีส่วนสำคัญมาจากนโยบายของรัฐบาลบราซิลในการส่งเสริมการขยายพื้นที่ทำการเกษตรโดยการโค่นถางและเผาป่า รวมทั้งความหละหลวมในการควบคุมการลักลอบค้าไม้ในป่าแอมะซอน แต่อีกต้นเหตุสำคัญที่เป็นตัวเร่งของสถานการณ์นี้คือ “ภาวะโลกร้อน” ที่ทำให้ป่าดิบชื้นที่ปกติมีความชุ่มชื้นตลอดปีกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งกว่าเดิม และทำให้ไฟป่าลุกลามอย่างรวดเร็วและรุนแรง นับว่าเหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างสำคัญของ “สาเหตุ” ของภาวะโลกร้อน (การตัดไม้ทำลายป่า) กับ “ผลลัพธ์” ของภาวะโลกร้อน (พื้นที่แห้งแล้ง) ที่รวมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ไม่ได้เกิดจากฟ้ากลั่นแกล้ง แต่เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง ทั้งนี้ ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากไฟป่าครั้งนี้คือ ทำให้เมืองเซาเปาโลทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิดแม้ในช่วงกลางวันจากหมอกควันที่เข้าปกคลุม และถึงขั้นคุกคามชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองอีกเกือบ 1 ล้านคนที่อยู่อาศัยในป่าแอมะซอน แต่ผลกระทบที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ด้วยความที่ป่าอเมซอนมีส่วนสำคัญต่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเป็นแหล่งปล่อยก๊าซออกซิเจนถึงประมาณร้อยละ 20 ของโลก ทำให้การสูญเสียพื้นที่ปอดของโลกดังกล่าว ส่งผลซ้ำเติมให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นไปอีกซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ที่พลเมืองของบราซิลเพียงเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกในที่สุด

บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้จึงขอชวนท่านผู้อ่านมาเจาะลึกภาวะโลกร้อนที่อยู่ในขั้นวิกฤต แม้ภาวะโลกร้อนมักเป็นประเด็นที่หลายคนมองข้าม ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวและน่าเบื่อ แต่อันที่จริงเป็นเรื่องน่ากลัว (ถึงชีวิต) ตามที่มีงานวิจัยหลายชิ้น อาทิ Acevedo (2016)ได้พิสูจน์แล้วว่า ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญของภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก และมักจะมีผลกระทบที่หลายคนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ

ในด้านเศรษฐศาสตร์ Tol (2018) พบว่า อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น (2-3 องศาเซลเซียส) เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกประมาณร้อยละ 0-5 ขณะที่ Kahn, et al. (2019) ได้ผลว่า หากไม่มีมาตรการเยียวยาและแก้ไขภาวะโลกร้อน การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกปีละ 0.04 องศาเซลเซียส จะส่งผลทางลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกรวมเป็นร้อยละ 7.22 ภายในปี 2100 (แต่ในความเป็นจริงสถานการณ์เลวร้ายกว่ามากเพราะตัวเลขล่าสุดจากองค์การนาซ่าเปิดเผยว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 1 องศาเซลเซียสในปี 2018 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง) ทั้งนี้ อธิบายได้ง่าย ๆ ว่า ผลกระทบที่เกิดจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น อาทิ การเกิดภัยพิบัติที่รุนแรง สภาพอากาศแปรปรวน การขาดแคลนทรัพยากรน้ำและอาหาร ล้วนส่งผลกระทบทางลบต่อผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมถึงผลิตภาพของแรงงาน (labor productivity) ซึ่งเกิดจากสภาวะการทำงานที่ยากลำบากขึ้น และจากผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทั้งหมดนี้ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบตามมา และนี่ก็ยังไม่ได้นับรวมงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปเพื่อแก้ไขและเยียวยาผลกระทบของภัยพิบัติรุนแรงที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งที่จริงแล้ว สามารถนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ แทนได้

เมื่อมองลึกลงไปอีก ยังมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากภาวะโลกร้อนที่หลายคนมองข้าม นั่นคือ ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแต่ละประเทศอย่างไม่เท่าเทียมกัน (และแม้จะเป็นประเทศเดียวกัน แต่อยู่คนละพื้นที่ ก็ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่น ในสหรัฐฯ บางมลรัฐได้รับผลกระทบมากกว่ามลรัฐอื่น ๆ) กล่าวคือ ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยในระดับมหภาค ประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำกว่าจะได้รับผลกระทบทางลบมากกว่าประเทศที่มีระดับรายได้สูง เนื่องจากประเทศรายได้ต่ำมีความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังไม่พร้อม และความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของฝ่ายการเมืองยังไม่เพียงพอสำหรับการรับมือภาวะโลกร้อน อาทิ การไม่มีระบบสาธารณสุขที่ดีพอ หรือการขาดเทคโนโลยีในการป้องกันและเยียวยาภาวะโลกร้อน ขณะที่ในระดับจุลภาค จะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนจนมีความสามารถในการปรับตัวต่ำกว่า และจะทำให้คนจนยิ่งจนลง ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างให้ยิ่งแย่ลงไม่ว่าประเทศนั้นจะมีระดับรายได้โดยรวมเท่าใดก็ตาม

เห็นอย่างนี้แล้ว ยังมีท่านใดหรือไม่ครับที่คิดว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นปัญหาที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราเสียเท่าใดนัก? ถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง เพราะถ้าเราไม่เริ่มแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ (พฤติกรรมของเราเอง) ตั้งแต่วันนี้ หายนะย่อมมาถึงและเมื่อนั้นเราก็คงแก้ไขอะไรไม่ทันอีกต่อไปแล้ว


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย