​เมื่อเงินเยนอ่อนค่า...การค้าเอเชียจะเป็นอย่างไร

นางสาววรันธร ภู่ทอง

ตั้งแต่ต้นปี 2556 เงินเยนอ่อนค่าลงมากถึง 8.5 % เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. การอ่อนค่าของเงินเยน ปัจจัยหลักๆ มาจากการคาดกันว่า เงินเยนจะอ่อนค่าลงในอนาคตตามแนวนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่น ภายใต้การนำของนายชินโสะ อาเบะ ที่ทั้งนโยบายการเงินและการคลังในระยะต่อไปมีทิศทางที่จะผ่อนคลายเพิ่มขึ้น โดยจุดประสงค์หลัก คือ ต้องการให้ประเทศญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ประเด็นดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับผู้ส่งออกและนักลงทุนทั่วไปรวมทั้งไทย ทั้งในด้านความสามารถในการแข่งขันและผลกระทบที่จะมีต่อการลงทุนในระยะต่อไป จึงมีคำถามว่าทิศทางการค้าเอเชียจะเป็นอย่างไรเมื่อเงินเยนอ่อนค่า

จากการศึกษา พบว่าการอ่อนค่าของเงินเยนจะทำให้ประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยได้ประโยชน์ทางการค้า จาก (1) ต้นทุนการนำเข้าที่ถูกลงซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นของประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะ ฮ่องกง เกาหลี จีน ไทย และไต้หวัน โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ และเหล็กกล้า ที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากญี่ปุ่นสูงกว่า 20-35% ของการนำเข้าทั้งหมด (2) แม้ราคาสินค้านำเข้าในญี่ปุ่นจะสูงขึ้นจากค่าเงินเยนอ่อน แต่เอเชียจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ส่งออกสินค้าจำเป็นไปญี่ปุ่นที่ไม่น่าจะลดลงแม้ราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะ สินค้าในกลุ่มเชื้อเพลิงและพลังงานที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาหลี เพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากโรงงานนิวเคลียร์หลายโรงที่ปิดไป สำหรับไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารไปญี่ปุ่น นอกจากนี้ การส่งออกของเอเชียจะได้รับอานิสงส์จากการบริโภคและการลงทุนญี่ปุ่นที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล (3) ความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นจากเงินเยนอ่อนค่าคาดว่าจะช่วยให้การส่งออกของญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่รวมถึงไทยดีขึ้น เนื่องจากประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทญี่ปุ่น โดยเฉพาะ กลุ่มชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ การส่งออกญี่ปุ่นที่คาดว่าจะดีขึ้นก็จะส่งผลให้การส่งออกของเอเชียดีขึ้นตามไปด้วย ยกเว้นประเทศเกาหลีใต้ที่สินค้าส่งออกแข่งขันกับญี่ปุ่นชัดเจนและไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทญี่ปุ่น และ (4) ประเทศในเอเชียไม่ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับญี่ปุ่น เนื่องจากมีลูกค้าคนละตลาดโดยสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นเน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศที่มีรายได้สูง ขณะที่สินค้าส่งออกของเอเชียส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำกว่าจึงเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลาง

นอกจากนั้น การอ่อนค่าของเงินเยนจะไม่ทำให้การลงทุนโดยตรง(Foreign Direct Investment: FDI) จากญี่ปุ่นมายังเอเชียลดลง เนื่องจากเอเชียเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพสำหรับญี่ปุ่น จากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า กอปรกับตลาดในเอเชียมีอัตราการเติบโตสูงจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของประชากรชนชั้นกลางนอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นยังต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศอาเซียนเนื่องจากต้องการได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเมื่อมีการรวมกลุ่ม AEC สำหรับในประเด็นเงินทุนเคลื่อนย้ายในเอเชีย ยังไม่ชัดเจนว่าเงินทุนจากญี่ปุ่นจะไหลเข้าในตลาดการเงินของเอเชียเพิ่มขึ้นหรือไม่

ดังนั้น ผู้ส่งออกและนักลงทุนในเอเชียรวมทั้งชาวไทยน่าจะคลายความกังวลกับผลกระทบของการอ่อนค่าของเงินเยน ได้บ้าง เพราะประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ทางการค้า ในขณะที่การลงทุนไม่ได้มีผลกระทบ ซึ่งประเด็นที่จะต้องติดตามต่อไปคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายหลังจากรัฐบาลได้เริ่มดำเนินนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม และทิศทางการอ่อนค่าของเงินเยนในระยะต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย