​การส่งออกไทย : เครื่องยนต์หลักที่ยังขัดข้อง

นายพรหมวรัท ประดิษฐ

ปี 2557 ที่ผ่านมา เป็นอีกปีที่ภาคการส่งออกซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยไม่ทำงานโดยมูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สอง สวนทางกับการส่งออกของประเทศอื่นในภูมิภาคที่สามารถขยายตัว สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าภาคการส่งออกของไทยมีปัญหาเฉพาะตัว กล่าวคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาระยะหนึ่ง และในปี 2558 นี้หลายฝ่ายยังคงฝากความหวังว่าภาคการส่งออกไทยจะสามารถกลับมาเดินเครื่องได้เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเช่นในอดีต อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ถึงข้อจำกัดทั้งภายในและภายนอกในปี 2558 จึงน่าจะช่วยให้เราสามารถประเมินความเป็นไปได้ว่าภาคการส่งออกของไทยจะสามารถเป็นความหวังให้กับประเทศได้หรือไม่ หรือจะเริ่มต้นด้วยความหวังและจบลงด้วยความผิดหวังดังเช่นในช่วงสองปีที่ผ่านมา

สำหรับปัญหาภายในซึ่งเป็นข้อจำกัดของไทยเองนั้นได้แก่ ปัญหาเชิงโครงสร้างอันเป็นผลจากการที่ไทยสูญเสียความสามารถในการดึงดูด FDI ทั้งจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะตลาดแรงงานตึงตัว และระดับความพร้อมของเทคโนโลยีที่ไทยโดนทิ้งห่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยขาดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและพัฒนาระดับเทคโนโลยีให้สอดรับกับกระแสของตลาดโลก เห็นได้ชัดเจนจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อยกว่าประเทศอื่นในเอเชีย และขยายตัวต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค

นอกจากนี้ ข้อจำกัดภายในอีกประการหนึ่งได้แก่ การที่โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยค่อนข้างกระจายตัวกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคซึ่งมีส่วนช่วยให้การส่งออกของไทยหดตัวน้อยกว่าประเทศอื่นในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ในทางกลับกันคือช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว อุปสงค์ต่อสินค้าที่เพิ่มขึ้นยังคงจำกัดอยู่เพียงในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคที่โครงสร้างสินค้าส่งออกกระจุกตัวอยู่ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า นอกจากนี้ ไทยยังมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรค่อนข้างสูงโดยเฉพาะยางพารา ไทยจึงได้รับผลกระทบจากปัญหาการตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์รุนแรงกว่า



นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการส่งออกซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไขแล้ว การส่งออกของไทยในปีนี้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มเติมจากปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่
1. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เนื่องจากประเทศจีนอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัว การส่งออกสินค้าที่จีนนำเข้าเพื่อบริโภคในประเทศจึงอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเคมีภัณฑ์ มันสำปะหลัง ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกของไทยไปจีน โดยสินค้าในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทของคนไทย และเกษตรกรไทย
2. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปจากโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ของทั้งรัสเซียซึ่งเศรษฐกิจกำลังบอบช้ำจากค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่ารุนแรง และกรีซที่รัฐบาลใหม่มีทิศทางการดำเนินนโยบายต่อต้านการรัดเข็มขัด ซึ่งหากเกิดกรณีการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นจริง เศรษฐกิจยุโรปคงหลีกเลี่ยงภาวะชะลอตัวไปไม่ได้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในท้ายที่สุด เป็นการซ้ำเติมการส่งออกไทยไปยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ทุกสินค้าในปีนี้
3. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพลังงานสุทธิจากปัญหาราคาน้ำมันดิบตกต่ำ โดยในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย รวมกันราวร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกรวม การชะลอตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่พึ่งพาตลาดดังกล่าวในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะรถยนต์นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงยังจะส่งผลทางอ้อมมายังราคาสินค้าส่งออกของไทยกลุ่มที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำ มันดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ที่ใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงสินค้าเกษตร ได้แก่ ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งกลุ่มสินค้านี้รวมกันคิดเป็นประมาณเกือบหนึ่งในห้าของมูลค่าการส่งออกไทยในปีที่ผ่านมา

จากปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดต่างๆ ข้างต้นจึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของภาคการส่งออกไทยที่จะพลิกฟื้นกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง สำหรับปัญหาภายนอกประเทศนั้นเราคงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก แต่สำหรับปัญหาภายในได้แก่ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างนั้น คงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักและช่วยกันยกเครื่องภาคส่งออกไทยผ่านการลงทุนของผู้ประกอบการเพื่อยกระดับเทคโนโลยี รวมทั้งก้าวข้ามการแข่งขันด้านราคาไปสู่การแข่งขันด้านคุณภาพผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทั้งในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรกรรม มิฉะนั้น ภาคการส่งออกของไทยอาจเปลี่ยนจากหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจกลายเป็นเครื่องยนต์ที่ดับสนิท ซึ่งจะถ่วงให้ประเทศไทยติดกับอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปอีกนาน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย