นางสาวพิมพ์อร วัชรประภาพงศ์
แจงสี่เบี้ยในตอนที่แล้วได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า หากไทยต้องการยกระดับศักยภาพของภาคส่งออกให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกโดยไม่ต้องหวังพึ่งเงินบาทที่อ่อนค่านั้น นับเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรทุกภาคส่วน ซึ่งแจงสี่เบี้ยในตอนนี้จะขอยกตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนในการยกระดับศักยภาพภาคการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการวางแผนอย่างมีวิสัยทัศน์ของภาครัฐว่ามีนโยบายอย่างไรภาคการส่งออกของเกาหลีใต้จึงแข็งแกร่งได้เช่นในปัจจุบัน
เรื่องราวความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดของเกาหลีใต้เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะ ไม่ง่ายเลยสำหรับประเทศซึ่งเคยติดอันดับความยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลกจะพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมของตนจนกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้าระดับ High-technology ชั้นนำได้เพียงในเวลาไม่ถึงห้าสิบปี อาทิ แบรนด์ Samsung LG หรือ Hyundai ความพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของเกาหลีใต้เริ่มขึ้นตั้งแต่ราวปี 1960 แต่ในระยะแรกนั้นการผลิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในอุตสาหกรรม สิ่งทอ รองเท้า และเครื่องหนัง ซึ่งจัดเป็นสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นแต่ก็ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตจากต่างชาติเป็นหลัก ขณะที่การค้นคว้าวิจัยจากัดอยู่เพียงการศึกษากระบวนการทำงานและการผลิตของต่างชาติ (Reverse-engineering) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม 20 ปีต่อมา รัฐบาลเริ่มตระหนักว่าหากต้องการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนเพื่อให้คุณภาพสินค้าของประเทศก้าวหน้าทัดเทียมคู่แข่งแล้ว เกาหลีใต้จำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมสัญชาติตนเองให้มากขึ้น ซึ่งการหวังพึ่งเทคโนโลยีจากต่างชาติเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบ
ความตั้งใจดังกล่าวนำไปสู่แผนพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อมุ่งผลักดันศักยภาพการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เริ่มจากการลงทุนของภาครัฐในสถาบันวิจัยหลายแห่ง ตลอดจนมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อมารัฐเริ่มส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยมากขึ้น ผ่านนโยบายลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่ลงทุนใน R&D ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเชิงวิชาการ ส่งผลให้บริษัทเอกชนนำโดยกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่รู้จักกันในนาม Chaebols(1) เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งไม่นานนักจากนโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐ ผสานกับแรงจูงใจในการทำกำไรของภาคเอกชนได้นำไปสู่นวัตกรรมมากมายที่สามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า Semiconductors โทรศัพท์เคลื่อนที่ จอ LCD หรือรถยนต์ และล่าสุดเมื่อต้นปีนี้เองสำนักข่าว Bloomberg ได้จัดอันดับเกาหลีใต้ให้เป็นสุดยอดของประเทศนวัตกรรมของโลกเป็นปีที่สองติดต่อกัน
วิสัยทัศน์อีกประการหนึ่งของรัฐบาลเกาหลีใต้ คือ การวางกลยุทธ์การส่งออกให้เหมาะสมกับ ขีดความสามารถของประเทศและแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก โดยหลังจากเกาหลีใต้ขึ้นแท่นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้สำเร็จ ในปี 2013 รัฐบาลได้คัดเลือกอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตได้ดีในตลาดโลก เพื่อผลักดันให้เป็นกลจักรขับเคลื่อนภาคการส่งออกของประเทศในระยะข้างหน้า อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวมีทั้งสิ้น 13 อุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีสื่อสาร 5G หุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และ อุปกรณ์ดิจิทัลแบบสวมใส่ (Wearable devices) เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเหล่านี้ไม่ได้อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน แผนระยะยาวที่ชัดเจนนี้เองทำให้การลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังมีความเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทาให้การลงทุนเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านนวัตกรรมที่ก้าวกระโดดของเกาหลีใต้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ จากการวิเคราะห์ของ OECD เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ประชากรมีการศึกษาดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งในสายสามัญและสายอาชีพ เนื่องจากผู้นำทุกสมัยให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชนมา โดยตลอด ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเริ่มลงทุนในงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจังเมื่อห้าสิบปีก่อน ทรัพยากรบุคคลในประเทศก็มีความพร้อมอยู่แล้วที่จะแปลงเงินลงทุนให้เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ความสำเร็จของเกาหลีใต้นี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เพราะทำให้การลงทุนในปัจจัยอื่นๆ ไม่สูญเปล่า ดังนั้น ความมุ่งหวังที่จะพัฒนาภาคการส่งออกไทยนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการวางรากฐานด้านการศึกษาที่มีคุณภาพโดยเร็วที่สุด
กล่าวโดยสรุป เส้นทางความสำเร็จของภาคการส่งออกเกาหลีใต้ ต้องอาศัยทั้งรากฐานเดิมของ เศรษฐกิจและการวางแผนสาหรับอนาคตอย่างมีวิสัยทัศน์ สำหรับประเทศไทย นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีเมื่อรัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินลงทุนวิจัยสู่เป้าหมายร้อยละ 1 ของ GDP การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือการเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในองค์กรภาครัฐออกไปร่วมงานกับภาคเอกชน นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือนโยบายด้านการศึกษาที่ยังคงรอความชัดเจน หากนโยบายเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมแล้ว อีกไม่นานนักเราคงมีโอกาสเห็นเทคโนโลยีฝีมือคนไทยไปโลดแล่นอยู่ในตลาดโลกมากกว่าปัจจุบัน และในวันนั้นเราคงกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าการส่งออกสินค้าของไทยก้าวข้ามปัญหาค่าเงิน ได้อย่างแท้จริง
----------------------------------------
(1) Chaebols คือ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนในเกาหลี เช่น Samsung Daewoo Hyundai LG หรือ SK
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย