นายรชต ตั้งนรารัชชกิจ
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่า “ทำไมตัวเลขเศรษฐกิจหรือ GDP ที่ภาครัฐแถลงว่าดีขึ้น แต่ตนเองกลับไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น” จึงขอชวนผู้อ่านมาหาคำตอบพร้อมทั้งหาข้อเสนอแนะร่วมกัน
เศรษฐกิจโตแต่รายได้ไม่โตตาม
เป็นที่เข้าใจว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลดีต่อประชาชนผ่านกลไกของตลาดแรงงาน โดยในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวดี ภาคธุรกิจจะเพิ่มการผลิตสินค้าและบริการ เพิ่มการลงทุน ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น เมื่อแรงงานมีเงินเพิ่มขึ้นจึงจับจ่ายใช้สอย ทำให้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น แต่พอมาวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลจากบัญชีรายได้ประชาชาติ พบว่า 15 ปีที่ผ่านมา แรงงานได้รับรายได้เพิ่มขึ้นจริง แต่อยู่ในอัตราที่น้อยกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ สัดส่วนรายได้แรงงานต่อ GDP จึงมีทิศทางลดลงต่อเนื่องทำให้รายได้ที่ครัวเรือนสามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อย่างไรก็ดี เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย (ภาพที่ 1)
สาเหตุสำคัญมาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโครงสร้างการผลิต และการเปิดเสรีทางการค้าที่มีส่วนทำให้ต้นทุนเครื่องจักรปรับลดลง และผู้ประกอบการมีแนวโน้มใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนทำให้ประเทศต่าง ๆ แข่งขันกันดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วยการใช้ข้อได้เปรียบด้านค่าแรงราคาถูก หรือมองแรงงานในแง่ต้นทุนการผลิตมากกว่าการมองแรงงานในฐานะที่เป็นผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าและบริการ
สำหรับประเทศไทย การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะหลังเนื่องจากปัญหาสังคมสูงวัยทำให้ประเทศขาดแคลนแรงงาน ซึ่งการใช้เครื่องจักรมีส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนลดลงและมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการผลิตแบบใช้แรงงานเป็นหลักเช่นในอดีต นอกจากนั้นภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงานเปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านปริมาณและทักษะ ขณะที่ระบบการศึกษาของไทยยังไม่สามารถผลิตแรงงานได้ตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปดังนั้น แรงงานส่วนหนึ่งจึงถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร โดยเฉพาะกลุ่มงานที่มีลักษณะทำซ้ำ ๆ เป็นประจำ หรืองานที่ใช้ทักษะต่ำ-กลาง เช่น ผู้ควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน
รายได้ที่ขยายตัวไม่ทันกับการใช้จ่ายเป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง”
การที่รายได้ของแรงงานและครัวเรือนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ขณะที่ยังมีรายจ่ายจำเป็นเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งครัวเรือนบางกลุ่มยังมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น สะท้อนจากงานศึกษาหลายชิ้นที่พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสูงกว่ารายได้ ส่งผลให้ต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนสูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ครัวเรือน ล่าสุดเราเห็นสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ครัวเรือนเร่งตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 148 ในไตรมาส 3 ปี 2562 จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานการณ์รายได้แรงงานที่ขยายตัวไม่ทันกับการใช้จ่ายเป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่อาจเพิ่มความรุนแรงให้กับสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เพราะการบริโภคภาคเอกชนมีขนาดใหญ่ถึงครึ่งหนึ่งของ GDP ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ยังเหลืออยู่ ท่ามกลางเครื่องยนต์ตัวอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ
แล้วไทยจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้อย่างไร ?
ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องแก้ไขด้วยการออกนโยบายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้ตัวเลข GDP จะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตอย่างเท่าเทียมก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยที่ผ่านมา ภาครัฐมีความพยายามประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น ผ่านนโยบายอุดหนุนรายได้ให้กับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยหรือมาตรการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ซึ่งมีประสิทธิผลระดับหนึ่งแต่ไม่ยั่งยืน ขณะเดียวกันอาจสร้างภาระทางการคลังให้กับประเทศในระยะยาว
ดังนั้น การส่งเสริมนโยบายเพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนจึงเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนโยบายแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้และการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) การพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน (2) การสนับสนุนให้แรงงานเห็นความสำคัญของการพัฒนาความรู้และทักษะฝีมือตลอดช่วงชีวิต แม้การเข้ามาของเทคโนโลยีอาจทดแทนแรงงานบางส่วน แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นการสร้างงานบางประเภทเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับระบบควบคุมหุ่นยนต์ และ (3) การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างแรงงานรุ่นใหม่ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับ Automation ในทุกระดับการศึกษา
ทั้งหมดนี้ถือเป็นทางเลือกที่สำคัญที่จะช่วยยกระดับรายได้แรงงานไทยและสร้างความยั่งยืนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย