​ตรึงราคาน้ำมันดีเซล...ข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรทราบ

​นางสาวจริยา เปรมศิลป์
นายธิติ เกตุพิทยา

ท่านผู้อ่านคงไม่ปฎิเสธว่า โอกาสที่ราคาน้ำมันจะกลับไปถูกเหมือนเมื่อ 25 ปีก่อนคงแทบจะไม่มีเลย ทั้งจากความต้องการใช้น้ำมันของโลกโดยเฉพาะจากจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือความรู้สึกของผู้ซื้อผู้ขายที่อ่อนไหวง่าย เช่น ข่าวประท้วงในตะวันออกกลางก็ทำให้ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นได้แล้วแม้ปริมาณการผลิตจริงอาจไม่ได้ลดลงเลย ตอนนี้หลายสำนักได้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบอาจทรงตัวเหนือระดับ 120 เหรียญสหรัฐ ฯ ต่อบาร์เรลไปตลอดปีนี้

จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง จึงต้องตั้งคำถามว่าแนวนโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศมาถูกทางแล้วหรือ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อมากลั่นปีๆ หนึ่งกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ฯ มากกว่ารายได้ที่เราส่งออกสินค้าเกษตรทั้งปีเสียอีกการพึ่งพาการนำเข้านี้ทำให้เรามีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น 10 เหรียญสหรัฐ ฯ ควรจะทำให้ราคาดีเซลในประเทศเพิ่มขึ้นลิตรละ 2 บาท แต่การตรึงราคาในประเทศต่อเนื่องมาถึง 5 เดือน แม้จะเข้าใจได้ว่าเป็นเจตนาดีที่จะช่วยลดค่าขนส่ง ชะลอการปรับขึ้นของราคาสินค้าอื่น และให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตมีเวลาปรับตัว แต่ราคาที่ถูกเกินจริงกลับจะทำให้กลไกการปรับตัวถูกบิดเบือน ประชาชนไม่ลดการใช้น้ำมัน ดูได้จากยอดจำหน่ายดีเซลที่ยังคงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับผู้ผลิตที่ไม่มีแรงจูงใจปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และจากสัดส่วนปริมาณการใช้น้ำมันเทียบกับ GDP ของไทยในช่วง 30 ปีที่ลดลงไม่มากนัก และยังสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่ใกล้เคียงกับเรา สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของไทย

ที่ผ่านมา เงินที่ใช้ตรึงราคาดีเซลมาจากเงินของกองทุนน้ำมันที่เก็บจากผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์ แต่จะเห็นว่ารถยนต์ที่ใช้เบนซินทั่วประเทศมีอยู่ 3 ล้านกว่าคัน ขณะที่รถยนต์ที่ใช้ดีเซลมีมากกว่าถึง 2 เท่า เท่ากับว่าผู้ใช้เบนซินเป็นผู้อุดหนุนให้กับผู้ใช้ดีเซล ซึ่งผู้ใช้เบนซินที่เป็นผู้มีรายได้น้อยก็มีอยู่มิใช่น้อย ขณะที่รถยนต์แพงๆ ที่ใช้เครื่องดีเซล ก็มีรวมกันเกือบ 1 ล้านคัน โดยภาระกองทุนน้ำมันที่ใช้อุดหนุนราคาดีเซลตกวันละประมาณ 300 ล้านบาท และเงินกองทุนน้ำมันก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเปลี่ยนมาใช้การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพื่อตรึงราคาดีเซลในประเทศไปจนถึงกันยายน 2554 ถ้าคิดคร่าวๆ จากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ 115 เหรียญสหรัฐ ฯ ต่อบาร์เรลและระดับการใช้ที่ 1,600 ล้านลิตรต่อเดือน จะทำให้รายได้ภาษีหายไปเดือนละกว่า 8,800 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมรายได้ของท้องถิ่นที่จะหายไปอีกเดือนละ 880 ล้านบาท เบ็ดเสร็จแล้วรัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีในปีงบประมาณนี้ไป 48,400 ล้านบาท และถ้าต่อมาตรการไปอีกในปีงบประมาณหน้า ก็เท่ากับรายได้ทั้งปีหายไปกว่า 116,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรณีที่ราคาน้ำมันโลกไม่ขยับ แต่ถ้าราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้น ภาระอุดหนุนก็จะเพิ่มขึ้นอีกและหากรัฐจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ก็คงหนีไม่พ้นที่อาจจะต้องจัดเก็บภาษีตัวอื่นเพิ่มขึ้นอีกอยู่ดี

การตรึงราคาไม่ว่าจะใช้เงินจากวิธีใดก็เป็นภาระทางการคลังเหมือนกัน ทั้งการให้กองทุนน้ำมันกู้ยืมเงินมาอุดหนุน หรือการลดภาษีสรรพสามิต ยิ่งไปกว่านั้น การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแต่ต้องเก็บภาษีตัวอื่นแทน จะทำให้ภาระตกอยู่กับกลุ่มที่อาจไม่ใช่ผู้ใช้น้ำมันจริงๆ ไม่เหมือนกับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันโดยตรง และในทางปฎิบัติ การปรับอัตราการอุดหนุนจากเงินกองทุนน้ำมันน่าจะทำได้ง่ายกว่าการปรับขึ้นอัตราภาษีในภายหลังเพราะลงแล้วคงขึ้นได้ยาก

มาตรการตรึงราคาดีเซลต่อไป แม้จะช่วยชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ก็เป็นแค่ช่วงสั้นๆ และหากราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นไปมากๆ การฝืนตรึงราคาอาจทำได้ไม่นาน ภาษีที่ชดเชยอยู่เพียง5.83 บาทต่อลิตรก็อาจไม่เพียงพอ คงต้องมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันหรือให้กองทุนน้ำมันกู้ยืมเงินมาอุดหนุน ซึ่งในที่สุดแล้ว เมื่อรัฐหมดหนทางก็เป็นไปได้ว่าอาจจะต้องปล่อยราคาดีเซลลอยตัว นั่นจะยิ่งทำให้ราคาดีเซลและราคาสินค้าอื่นๆ ปรับขึ้นมากอย่างรวดเร็ว จะเกิดผลเสียรุนแรงกว่าการที่รัฐจะทยอยลดการอุดหนุนลงเพื่อให้ประชาชน และผู้ผลิตค่อยๆ ปรับตัว
ประเด็นน่ากังวลอีกอย่างคือ ความไม่ชัดเจนของนโยบาย เช่นหลังเดือนกันยายนจะต่ออายุหรือไม่ หรือถ้ายกเลิกจะปล่อยราคาไปเท่าไร และหากประชาชนเชื่อว่ารัฐจะต่ออายุมาตรการไปเรื่อยๆ ก็จะไม่เห็นการลดการใช้น้ำมัน ขณะเดียวกันพลังงานทดแทนอื่นก็จะไม่เกิด มิหนำซ้ำ จะทำให้คนอยากซื้อรถยนต์เครื่องดีเซลมากขึ้นด้วย นั่นเท่ากับเป็นการส่งเสริมการขนส่งทางถนน แทนที่จะเป็นระบบรางซึ่งมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า ถ้าลองคิดดูเล่นๆ เงินอุดหนุนเกือบ 5หมื่นล้านบาทสามารถนำมาสร้างรถไฟฟ้าได้ 1 เส้นทางเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงมีจำเป็นต้องส่งสัญญาณให้ประชาชนรู้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงแพงต่อไป และภาครัฐจะทยอยลดการอุดหนุนราคาในประเทศลงเพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้กลไกการปรับตัวไม่ถูกบิดเบือน และไม่เป็นภาระกับภาษีประชาชนอีกด้วย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย