นางสาววิชชุดา ปุณยกนก
ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ถ้าต้องการจะฝากเงินสักก้อนหรือจะขอสินเชื่อ ละกำลังลังเลว่าจะเลือกใช้บริการของธนาคารไหนดี? จะหาข้อมูลเปรียบเทียบเงินฝากหรือสินเชื่อที่มีในตลาดเพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะกับเราที่สุดได้จากที่ไหน? บางคนอาจจะถามเพื่อน บางคนอาจจะเดินเข้าไปที่สาขาธนาคาร บางคนอาจดูจากโฆษณา หรือโทรศัพท์ไปสอบถาม call center ของธนาคารที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตาม ข้อมูลที่เราได้รับในบางครั้งอาจถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ก็ได้ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการที่เหมาะสมและตรงใจ
คุณทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งโดยหลักแล้วก็คือ ธนาคารพาณิชย์นั่นเอง ได้เริ่มก้าวสู่มิติใหม่ของการให้บริการแล้ว โดยถือหลัก “ไม่หลอก ไม่บังคับ ไม่รบกวน ไม่เอาเปรียบ”ผู้ใช้บริการ ตามแนวทางการกำกับดูแลด้าน Market conduct ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ จะเห็นได้จากการที่คุณสามารถ “สำรวจ” หรือ “ช้อป” ผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยของธนาคารต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ เงินฝาก บัตรเดบิต บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพียงปลายนิ้วสัมผัสผ่านทาง “เว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” ของแบงก์ชาติ(https://www.1213.or.th/th/aboutfcc/Pages/productdisclosure.aspx) ที่รวบรวมข้อมูลของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไว้อย่างละเอียดครบถ้วน คุณจะสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ของธนาคารแต่ละแห่ง ได้ตามเงื่อนไขที่คุณต้องการ เช่น วงเงินฝากขั้นต่ำและระยะเวลาของการฝากเงินของผลิตภัณฑ์เงินฝาก วงเงินบัตร และค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีของผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต วงเงินกู้และระยะเวลากู้ของผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล
หลังจากที่เปรียบเทียบและตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ของธนาคารที่สนใจได้แล้ว และคุณต้องการจะสมัครเพื่อใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ยกตัวอย่างเช่น คุณสนใจจะได้บัตรเดบิตของธนาคาร A ธนาคารจะนำเสนอ “แคตตาล็อก” (product catalog) บัตรเดบิตทุกประเภทของธนาคาร ซึ่งมีข้อมูลสำคัญ (key features) คร่าว ๆ ที่ควรทราบ เช่น ค่าธรรมเนียมบัตรรายปี มีประกันพ่วงด้วยหรือไม่ พร้อมกับให้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์ใดที่ตรงกับความต้องการของคุณมากที่สุด และ ไม่บังคับขายบัตรเดบิตชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อประโยชน์ของธนาคารเพียงฝ่ายเดียว
เมื่อคุณเลือกบัตรเดบิตที่คุณต้องการได้แล้ว พนักงานธนาคารก็จะเล่ารายละเอียดของบัตรเดบิตให้คุณฟังเพิ่มเติม โดยจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “เอกสารแสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์” (sales sheet) เพื่อนำเสนอรายละเอียดของบัตรเดบิตให้แก่คุณอย่างครบถ้วน ไม่หลอกให้คุณเข้าใจแบบผิด ๆ เช่น ลูกค้าประเภทใดที่จะขอสมัครเพื่อใช้บัตรเดบิตนี้ได้ เงื่อนไขการใช้บัตรในการฝาก/ถอน/โอน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากเป็นบัตรพ่วงประกันก็จะต้องมีข้อมูลเงื่อนไขความคุ้มครองด้วย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจสมัครคุณควรศึกษาเอกสารฉบับนี้ให้ถี่ถ้วนและสอบถามพนักงานธนาคารเพื่อเคลียร์ข้อสงสัยให้หมดเปลือกก่อนตกลงปลงใจจะใช้บริการ
หลังจากนั้น พนักงานธนาคารก็จะนำใบสมัครมาให้คุณกรอกข้อมูล ในขั้นตอนนี้ให้คุณอ่านเงื่อนไขการใช้ผลิตภัณฑ์อีกครั้งหนึ่งว่าเป็นไปตามข้อมูลที่พนักงานธนาคารเสนอให้แก่คุณหรือไม่ และในส่วนของใบสมัครช่วงท้าย ๆ จะมีส่วนของ “การขอความยินยอมของลูกค้าในการเปิดเผยข้อมูล” อยู่ด้วย ซึ่งจะมีจุดสังเกตสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้ (1) ส่วนของการขอความยินยอมนี้จะต้องแยกออกมาจากเงื่อนไขการสมัครผลิตภัณฑ์ (2) มีการแจ้งวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเป็นการนำข้อมูลของคุณไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น เช่น บริษัทในเครือ หรือพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารนั้น เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด เช่น ประชาสัมพันธ์ เสนอโปรโมชั่นเป็นต้น (3) ให้สิทธิคุณเลือกที่จะยินยอมเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ก็ได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อการสมัครใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และ (4) จะต้องแจ้งช่องทางการยกเลิกความยินยอมไว้ในกรณีที่ผู้ใช้บริการอาจเปลี่ยนใจที่จะไม่ให้ความยินยอมในภายหลัง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อที่ธนาคารจะได้ไม่รบกวนลูกค้า หากคุณไม่ยินยอมที่จะให้ธนาคารนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของคุณไปเปิดเผยให้แก่กลุ่มบริษัทหรือพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่น ๆ
หลังจากที่ธนาคารพิจารณาใบสมัครที่คุณกรอกข้อมูลและตกลงที่จะให้คุณใช้ผลิตภัณฑ์ของธนาคารนั้นแล้ว พนักงานธนาคารจะนำ “สัญญา” (contract) มามอบให้แก่คุณ คุณควรเก็บสัญญาดังกล่าว ไว้ให้ดี เพื่อเป็นหลักฐานที่สามารถใช้อ้างอิงเงื่อนไขในการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น เพราะบางทีเราก็อาจจะลืมเงื่อนไขกันไปบ้างหลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง
ในกรณีที่คุณขอสินเชื่อหรือกู้เงินจากธนาคาร คุณจะได้รับ “ใบแจ้งหนี้” เป็นประจำก่อนถึงงวด การชำระหนี้ที่ตกลงกันไว้ และเมื่อคุณจ่ายชำระหนี้แล้วก็จะได้รับ “ใบเสร็จรับเงิน” ซึ่งปัจจุบันทั้งใบแจ้งหนี้ และใบเสร็จรับเงินจะระบุรายละเอียดสำคัญ ๆ ไว้ชัดเจน เช่น จำนวนเงินที่คุณจะต้องชำระ หรือจำนวนเงินที่คุณได้ชำระไปแล้ว แยกเป็นรายการใดบ้าง ค่างวด ดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมการทวงถามหนี้ (หากมี) และหากธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการ จะต้องแจ้งให้คุณให้ทราบด้วย เพื่อเป็นการ ไม่เอาเปรียบคุณนั่นเอง
นอกเหนือจากข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คุณจะได้รับผ่านช่องทางหรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว คุณยังสามารถที่จะทราบคุณภาพของการให้บริการของธนาคารต่าง ๆ ได้จากเว็บไซด์ของแบงก์ชาติด้วย (https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Pages/MC-FinesandAccusation.aspx) โดยจะเปิดเผยข้อมูลของธนาคารแต่ละแห่งที่ถูกร้องเรียนหรือถูกเปรียบเทียบปรับจากการฝ่าฝืนการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Market conduct เพื่อให้คุณมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพอย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น
หลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้แล้ว หวังว่าจะช่วยให้คุณเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจและเหมาะสมกับคุณได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้คุณรักษาสิทธิพื้นฐานในการใช้บริการทางการเงินไว้ได้ โดยที่ผู้ให้บริการจะต้อง ไม่หลอก ไม่บังคับ ไม่รบกวน และไม่เอาเปรียบ คุณนั่นเอง