​การควบคุมดูแลราคาสินค้า...เหรียญสองด้านที่ต้องมองให้ครบ

นางสาวจริยา เปรมศิลป์

หลายท่านคงเคยเห็นข่าวกันบ่อยครั้งที่ภาครัฐประกาศควบคุมหรืออุดหนุนราคาสินค้าและบริการไม่ว่าจะเป็นการตรึงราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม การกำหนดราคาค่าโดยสารสาธารณะ การขอความร่วมมือตรึงราคาอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เป็นความตั้งใจดีที่จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในช่วงนั้นๆซึ่งผู้ผลิตยังสามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ แต่อีกด้านหนึ่งมาตรการควบคุมดูแลราคาสินค้าบางมาตรการที่ไม่เหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบตามมาได้เช่นกัน

โดยทั่วไป การควบคุมดูแลราคาสินค้าและบริการของภาครัฐ จะแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1) สินค้าและบริการควบคุม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดราคาขาย ส่วนใหญ่จะเป็นบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น หรือเป็นกรณีควบคุมให้ผู้ขายต้องแจ้งราคาและมีข้อกำหนดห้ามขายแตกต่างจากราคาที่แจ้งไว้ อาทิ น้ำตาลทราย นมผง เป็นต้น และ 2) สินค้าและบริการติดตามดูแล โดยเป็นการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการกำหนดราคาขายที่เหมาะสม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะประกาศราคาแนะนำเพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิง ผลต่อการตั้งราคาสินค้าและบริการจึงไม่ต่างจากสินค้าและบริการควบคุมที่มีการกำหนดราคาขาย

สินค้าและบริการทั้งที่ควบคุมและติดตามดูแลของไทย มีถึง 1 ใน 3 ในตระกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการควบคุมและติดตามดูแลจึงมีนัยต่อตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะไม่สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่แท้จริง (1) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ในช่วงปี 2547-48 ที่เศรษฐกิจขยายตัวค่อนข้างดี ซึ่งก็น่าจะมีแรงกดดันที่มาจากด้านอุปสงค์ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลับอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการตรึงราคาน้ำมัน และควบคุมค่าโดยสารสาธารณะ หรือแม้กระทั่งในช่วงปลายปี 2551 ที่เงินเฟ้อชะลอลงอย่างรวดเร็ว จนหลายฝ่ายกังวลว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ทั้งที่จริงแล้วเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลัก ซึ่งหากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ในส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันและอยู่นอกเหนือมาตรการของรัฐ ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ปรับลดลงและยังไม่ได้มีสัญญาณการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด จะเห็นว่ามาตรการควบคุมและติดตามดูแลมีส่วนทำให้เงินเฟ้ออาจจะเคลื่อนไหวออกจากแนวโน้มปกติ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดในลักษณะเงินเฟ้อแอบแฝงอีกด้วย กล่าวคือ แม้ราคาไม่ปรับขึ้น แต่ผู้ขายก็ลดปริมาณ/ขนาดลง หรือด้วยกลวิธีต่างๆ เช่น ปรับสูตร เพิ่มกลิ่น ปรับ Packaging แต่คุณภาพแย่ลงสุดท้ายผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็จ่ายแพงอยู่ดีบางครั้งเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป
นอกจากนี้แล้ว การตรึงราคาไปนานๆ มีส่วนทำให้กลไกการปรับตัวของผู้บริโภคและผู้ผลิตถูกบิดเบือนด้วยราคาที่ถูกเกินจริงไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ยิ่งถ้าเชื่อว่ารัฐจะยังคงอุดหนุนหรือตรึงราคาต่อไปเรื่อยๆ ผู้บริโภคก็จะไม่เกิดการประหยัดการใช้ ขณะที่ผู้ผลิตก็จะไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการใช้ทรัพยากรจะเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น อาจมีการลักลอบไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเท่ากับว่าเงินที่รัฐเสียไปกับการอุดหนุน หรือค่าเสียโอกาสของทรัพยากรที่สูญเสียไป เสียไปให้กับคนในประเทศอื่น

แม้จะเป็นเรื่องปกติที่ภาครัฐจะเข้ามาควบคุมดูแลราคาสินค้าในช่วงที่ราคาปัจจัยการผลิตสูงขึ้นจนอาจส่งผ่านมาที่ราคาสินค้าและบริการได้ โดยเฉพาะ Cost Shock จากราคาน้ำมันเนื่องจากเป็นต้นทุนหลักในการขนส่งและการผลิต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อยู่นอกเหนือความสามารถของนโยบายการเงินที่จะควบคุมได้แต่การควบคุมดูแลราคาสินค้าเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาหรือลดทอนผลกระทบของ Cost Shock ที่มีผลต่อเงินเฟ้อในระยะสั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วราคาก็ต้องปรับไปตามกลไกตลาด เพื่อสะท้อนภาวะต้นทุนที่แท้จริง และเราทราบดีอยู่แล้วว่า ไม่มีใครฝืนกลไกตลาดได้ตลอดไปเพราะเป็นต้นทุนอันมหาศาล และยิ่งหากยกเลิกการอุดหนุนราคาโดยทันทีหรือไม่สามารถขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาต่อไปได้ เงินเฟ้อก็จะกระชากแรงผลเสียจะรุนแรงกว่าการที่จะทยอยลดการอุดหนุนลงหรือปรับให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น เพื่อให้ประชาชน และผู้ผลิตค่อยๆ ปรับตัว

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงควรใช้มาตรการการควบคุมดูแลราคาสินค้าและบริการเพียงเป็นมาตรการซื้อเวลาในระยะสั้นเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องมีCommitment และ Timing ที่แน่นอนและส่งสัญญาณที่ถูกต้องกับประชาชน ตัวกำหนดไม่ใช่เงื่อนเวลาแต่คือ ราคาที่เป็นต้นทุนที่แท้จริง และปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือน และการซื้อเวลาก็เพียงเพื่อเตรียมความพร้อมกับมาตรการระยะยาวที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ

ผู้อ่านคงพอจะเห็นแล้วว่า การตรึงราคาไปเรื่อยๆ ไม่สามารถทำได้ ในที่สุดก็ต้องปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียในระยะยาวจนไม่อาจแก้ไขได้ ทั้งนี้ มีอีกประเด็นที่มีความสำคัญซึ่งก็เป็นเรื่องใกล้ตัวเราไม่แพ้เรื่องนี้ นั่นก็คือ “การคาดการณ์เงินเฟ้อ” มันจะโยงใยกับเราอย่างไรติดตามอ่านในครั้งหน้านะคะ


-------------------------------

1) แรงกดดันเงินเฟ้อควรจะต้องสะท้อนเฉพาะส่วนของแนวโน้ม หรือที่เรียกว่า Underlying Trend ออกมา เนื่องจากเป็นแรงกดดันที่แท้จริงที่มาจากด้านอุปสงค์ ไม่ใช่ความผันผวนระยะสั้นที่มักเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานชั่วคราว หรือ Temporary shock ในลักษณะอื่นๆ ซึ่งต้องพิจารณาตัวชี้วัดแนวโน้มเงินเฟ้อที่เหมาะสมเพื่อให้การติดตามและการประเมินแรงกดดันทำได้อย่างถูกต้อง และนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่เหมาะสมต่อไป
*ขอขอบคุณ คุณชาติชาย เขียวงามดี ที่สนับสนุนด้านข้อมูลและต้นร่าง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย