​เงินสำรองระหว่างประเทศ: มีเท่าไหร่ถึงพอ

นางสาวบุญทิวา ชีวะตระกูลกิจ

การประกาศทยอยปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา ความเสี่ยงด้านการฟื้นตัวที่ยังไม่ค่อยแน่ชัดของเศรษฐกิจประเทศหลัก รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศของไทยที่ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐหยุดชะงักอันส่งผลต่อ Sentiment การลงทุนในประเทศ ตลอดจนข่าวล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ทุนไหลออกในประเทศอาร์เจนตินาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ส่งผลให้ค่าเงินเปโซอ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดในวงกว้างและอาจลามถึงเศรษฐกิจไทยได้และสงสัยว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถรับมือกับภาวะเงินทุนไหลออกและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร

ผู้เขียนจะขอนำเสนอการวิเคราะห์และประเมินถึงความเพียงพอของเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยว่าจะสามารถรองรับกับความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าวได้หรือไม่ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สาธารณชน โดยก่อนอื่นจะขออธิบายถึงองค์ประกอบและหน้าที่หลักของเงินสำรองฯ ดังนี้ เงินสำรองระหว่างประเทศ คือสินทรัพย์ต่างประเทศที่ธนาคารกลางถือครอง จากการศึกษาข้อมูลของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2555 และมีแนวโน้มลดลงบ้างเล็กน้อยในช่วงปี 2556 โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 17 ม.ค. 2557 ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศ (Gross Reserves) 166.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ประกอบด้วย สินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศ 157.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ร้อยละ 95 ของ Gross Reserves) ทองคำ 6.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และที่เหลือจำนวน 2.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR) จาก IMF และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุน IMF ซึ่งสามารถขอเบิกมาใช้ได้ทันทีเมื่อจำเป็น ทั้งนี้หากรวมฐานะเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (Net Forward Position) ซึ่งคือสิทธิที่จะได้รับเงินตราต่างประเทศในอนาคตจำนวน 22.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จะทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net Reserves) มีจำนวน 189 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

หน้าที่หลักสำคัญของเงินสำรองระหว่างประเทศ คือเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดและนักลงทุนต่างประเทศ และใช้รองรับธุรกรรมระหว่างประเทศทั้งทางการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในกรณีที่มีการไหลเข้าออกอย่างฉับพลัน กรณีประเทศไทยที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นจะสามารถทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพโดยอัตโนมัติ (Automatic Stabilizer) ซึ่งทำให้ลดความต้องการในการสะสมเงินสำรองได้ระดับหนึ่ง

การวัดความเพียงพอของเงินสำรองนั้นไม่ได้มีตัวเลขตายตัว เพราะ “ความเพียงพอ” ของแต่ละประเทศอาจไม่เท่ากันโดยขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นฐานเศรษฐกิจ หรือระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่นักวิเคราะห์มักใช้ในการวิเคราะห์เบื้องต้นซึ่งเป็นหลักการคิดแบบง่ายๆ (Rules of Thumb) ของความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่แต่ละประเทศควรดำรงเงินสำรองฯ ไว้ให้เพียงพอมี 3 มิติ คือ 1)เพียงพอสำหรับการนำเข้า 3 เดือน (3 Months of Import) ซึ่งใช้หลักคิดว่าหากประเทศประสบวิกฤติการเงินไม่สามารถส่งออกสินค้าและบริการได้ทำให้ไม่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือไม่สามารถกู้เงินดอลลาร์ สรอ. จากต่างประเทศได้ เงินสำรองระหว่างประเทศที่เรามีอยู่ควรสามารถรองรับยอดการนำเข้าได้นาน 3 เดือน โดยในปัจจุบันเงินสำรองฯของไทยคิดเป็น 3 เท่าของเกณฑ์นี้ 2) เพียงพอที่จะจ่ายหนี้ต่างประเทศระยะสั้นทั้งหมด จากหลักคิดที่ว่าหากเกิดวิกฤติการเงินขึ้นหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะถูกเรียกคืนมากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะยาว โดยในปัจจุบันเงินสำรองฯของไทยคิดเป็นประมาณ 3 เท่าของเกณฑ์นี้ และ 3) ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (Broad Money) ซึ่งคำนึงถึงโอกาสในการเกิดการไหลออกของเงินฝากในประเทศ (Capital Flight) โดยการศึกษาในอดีตมักใช้เกณฑ์อ้างอิงว่าแต่ละประเทศควรดำรงเงินสำรองให้อยู่ในช่วงร้อยละ 5-20 ของ Broad Money ซึ่งสามารถปรับเกณฑ์มากน้อยได้ตามความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละประเทศ โดยประเทศที่ใช้นโยบายค่าเงินลอยตัวจะช่วยลดความต้องการสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอาจดำรงเงินสำรองไว้ที่ร้อยละ 5 ของ Broad Money โดยในปัจจุบันเงินสำรองฯของไทยคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณเงินตามความหมายกว้าง

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นแม้เงินสำรองระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งอาจไหลเข้าออกอย่างฉับพลันและรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินได้ แต่ในระยะยาวการรักษาพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มเเข็ง การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ยืดหยุ่นเเละเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันวิกฤตการณ์และความผันผวนจากเศรษฐกิจการเงินโลกได้ดีที่สุด ในแจงสี่เบี้ยฉบับหน้าโปรดติดตามการวิเคราะห์ฐานะความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจการเงินของไทย และประเมินว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่นักวิเคราะห์เรียกว่า "Fragile Five" ซึ่งประกอบด้วย บราซิลอินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี และแอฟริกาใต้ ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหานักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น เงินทุนไหลออก เงินสำรองระหว่างประเทศลดลง และค่าเงินตกต่ำอย่างมากในขณะนี้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>​Download​​ PDF