​บริการทางการเงินเข้าถึงได้ ใช้สะดวก เชื่อมโยงอาเซียน

นายอัจฉริย์ อนธนารักษ์ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ​


ทุกวันนี้การทำธุรกรรมทางการเงินสามารถทำได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมพื้นฐาน เช่น การฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน รับเงิน หรือธุรกรรมที่มีความซับซ้อนขึ้น เช่น การขอสินเชื่อการลงทุนในตราสาร โดยสามารถทำธุรกรรมผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น สาขาธนาคารพาณิชย์ ตู้เอทีเอ็มหรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ แต่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีแม้แต่บัญชีเงินฝากและไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินพื้นฐานได้

จากรายงานของธนาคารโลกปี 2560 พบว่าประชากรกว่าร้อยละ 31 หรือกว่า 1.7 พันล้านคนทั่วโลกที่ไม่มีบัญชีธนาคารและในกลุ่มประเทศอาเซียนมีประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคารสูงถึง 345 ล้านคนหรือร้อยละ53ของจำนวนประชากรของอาเซียนทั้งหมดและในจำนวนนี้ เป็นประชาชนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่าร้อยละ 50 หรือมากถึง 172 ล้านคนโดยมีเหตุผลสำคัญมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือบริการทางการเงินที่จำเป็นได้ เช่น แหล่งเงินทุนสำหรับการศึกษา การแพทย์ หรือการใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มนี้และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภาพรวมอีกด้วย เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ให้ให้คำจำกัดความของ “การเข้าถึงบริการทางการเงิน”(Financial Inclusion)ว่าหมายถึง “การที่บุคคลหรือครัวเรือนมีโอกาสการเข้าถึงและสามารถใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม โปร่งใส และสอดคล้องกับระดับรายได้ ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม” ซึ่งก็คือ การที่ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการฝากเงิน ถอนเงิน ชำระเงิน และกู้เงิน ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนที่เหมาะสมนั่นเอง ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คล่องตัว ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว อันจะนำไปสู่การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจการเงินที่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับประเทศไทยแม้จะมีประชากรเพียงร้อยละ 18 ที่ไม่มีบัญชีธนาคารซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการทำต้นทุนของการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ต่ำลง อาทิ การให้บริการบัญชีเงินฝากพื้นฐานซึ่งไม่กำหนดวงเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชี ไม่มีค่ารักษาบัญชี และไม่เก็บค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม นอกจากนี้การพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลเองก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำธุรกรรมประเภทการโอนเงินและชำระเงินที่คนไทยเริ่มนิยมจ่ายค่าสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพราะมีทางเลือกในการใช้บริการที่หลากหลายภายใต้ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง
​นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทำให้การให้บริการทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวอย่างรวดเร็วและประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นโดยรายงานสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินปี 2558 - 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าประชาชนไทยกว่าร้อยละ 97 สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างน้อย 1 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นผ่านช่องทางสาขาของธนาคารพาณิชย์ เคาน์เตอร์บริการและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
ในปี 2562 ไทยจะใช้โอกาสการเป็นประธานอาเซียนผลักดันงานในเรื่องนี้ผ่านคณะทำงานด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เพื่อสนับสนุนแผนงานด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินของประเทศสมาชิก ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ได้จัดทำแนวปฏิบัติการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการผลักดันงานด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทั้งนี้ ส่วนที่ไทยจะผลักดันต่อก็คือการเชื่อมโยงการชำระเงินรายย่อยระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินแล้ว ยังอำนวยความสะดวกให้คนไทยและประเทศสมาชิกสามารถทำธุรกรรมการเงินระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย กิจการ SMEs การโอนเงินรายย่อย และการรับ/จ่ายเงินค่าสินค้าเวลาเดินทางไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในต้นทุนที่ถูกลง-----------------------------------------------------------


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>​​​